การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ
การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ คือ การปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีผักหวานป่าเป็นพืชหลัก มีการปลูกพืชหลายระดับเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางลบกับการเจริญเติบโตของผักหวานป่า โดยเริ่มจากปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เช่น แคบ้าน กล้วย มะม่วง และสะเดา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นไม้พี่เลี้ยงให้ร่มเงาที่ถาวร เนื่องจากตามธรรมชาติผักหวานป่าเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของไม้อื่น ตามด้วยการปลูกไม้ระดับกลางคือผักหวานป่าซึ่งเป็นพืชหลัก และการปลูกพืชระดับล่างเป็นพืชอายุสั้นที่ให้ผลผลิตได้เร็ว เช่น พืชผัก เป็นต้น
การเลือกพืชมาปลูกร่วมกับผักหวานป่า ต้องให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของผักหวานป่าด้วย โดยเฉพาะพืชที่นำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงา ควรเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ เจริญเติบโตได้ดี และมีผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ถ้าเป็นพืชตระกูลถั่วจะเป็นการดีมาก มีการกำหนดระยะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นผักหวานป่าได้รับแสงแดดมากหรือน้อยเกินไป ส่วนพืชอายุสั้นอาจเป็นพืชผักกินใบหรือผลก็ได้ เช่น มะเขือ พริก กะเพรา ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก หรือความต้องการของตลาด
ตัวอย่างระบบการปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ 1 ไร่ เช่น ถ้าต้องการปลูกผักหวานป่าร่วมกับกล้วยน้ำว้า และมะเขือเปราะ เริ่มจากปลูกกล้วยเพื่อเป็นพืชให้ร่มเงา ระยะปลูก 3x3 เมตร ปลูกได้ 196 ต้น จากนั้นนำต้นกล้ามะเขือเปราะปลูกระหว่างแถวของต้นกล้วย โดยปลูกเป็นแถวคู่ ระยะปลูก 1x1 เมตร ปลูกได้ 1,040 ต้น เมื่อต้นมะเขือเปราะโตจนมีร่มเงา จึงปลูกผักหวานป่าระหว่างกึ่งกลางแถวคู่ของต้นมะเขือ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 520 ต้น โดยในช่วงแรกผักหวานป่าจะอาศัยร่มเงาของต้นมะเขือ จนกว่าต้นกล้วยจะสามารถให้ร่มเงาได้
ต้นทุนระบบการปลูกผักหวานป่ามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของต้นพันธุ์ที่นำมาใช้ คือ ต้นพันธุ์จากการตอนกิ่งมีราคาสูงกว่าจากการเพาะเมล็ด ราคาต้นพันธุ์จากกิ่งตอนประมาณ 100 บาท/ต้น ส่วนเพาะเมล็ดราคาประมาณ 15-20 บาท/ต้น นอกจากนั้นจะเป็นต้นทุนของระบบน้ำ แรงงาน และปุ๋ย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์เป็นหลัก
ต้นผักหวานป่า
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.oknation.net/blog/esan-banna
การปลูกผักหวานป่า 1 ระบบนี้ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ คือ ปีแรกผลตอบแทนจากการปลูกมะเขือเปราะ ปีที่สองจากการปลูกกล้วยน้ำว้า และเมื่อเข้าสู่ปีที่สามจะได้รับผลตอบแทนจากกล้วยน้ำว้าและผักหวานป่า
การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ จึงเป็นระบบการปลูกพืชที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี และทุก ๆ ปี ในระหว่างรอผลผลิตจากต้นผักหวานป่า นอกจากนั้นยังเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สถานีวิจัย ลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 333 หมู่ 12 ถนนมิตรภาพ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทร. 0-4439-0107, 0-4439-0150, 08-1999-4770 โทรสาร 0-4439-0150 E-mail:lamtakhong@tistr.or.th, momtree_k@tistr.or.th
เข้าชม : 4016
|