[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

  

บทความทั่วไป
พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ

ศุกร์ ที่ 7 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558

คะแนน vote : 168  

 
ทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้าฯ ผู้บริหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กศน.อำเภอกันตัง


วันที่ ๑๒ สิงหาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙

 

        เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันศุกร์ ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ตั้งอยู่ที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามที่ ๖ อำเภอปทุมวัน จ.พระนคร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สิริกิติ์" มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระภาดา (พี่ชาย) ๒ องค์ และพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ๑ องค์ ดังนี้

๑.หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร 
๒.หม่อมราชวงศ์ อดุลยกิติ์ กิติยากร 
๓.หม่อมราชวงศ์หญิง บุษบา กิติยากร 

           ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุเพียง ๑ ขวบ ก็ต้องอยู่ไกลจากพระบิดามารดาโดยได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประทับอยู่ที่จังหวัดสงขลา เมื่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการและกลับมาจากวอชิงตัน ดี.ซี.ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๒ ปี ๖ เดือน จึงได้กลับมาอยู่รวมพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว 

         พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์มีอายุได้ ๔ ขวบ ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทย จะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคม ไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จนจบชั้น มัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดี และเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย


        พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงหม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ สำนักเซนต์ เยมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัว ทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้น หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ ๑๓ ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว

        ในประเทศอังกฤษหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษหลังจากนั้นไม่นานพระบิดาย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์กและประเทศ ฝรั่งเศส ตามลำดับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัย การดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

 


        ในประเทศฝรั่งเศสหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีส โดยทางรถยนต์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพราะประสงค์จะเลือกซื้อรถยนต์พระที่นั่งแทนคันเดิม และยังได้รับชมการแสดงดนตรีของคณะที่มีชื่อเสียงด้วย ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินมายังกรุงปารีสก็ได้ประทับที่สถานทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกันกับนักเรียนไทยคน อื่นในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดการดนตรีเป็นพิเศษขณะที่หม่อม ราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความความสัมพันธ์ขึ้น

         วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมี หม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์ หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 


        ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากอาการประชวรแล้วก็ได้ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับมาด้วย

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงสายสะพายนพรัตน์ราช วราภรณ์เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

 


        หลังจากครองราชย์สมบัติอย่างกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระหัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธี บรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และโปรดฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์ และทรงศึกษาต่อ แล้วเสด็จฯ กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา ๔ พระองค์ ดังนี้

๑.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาลมองซัวซี นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อมา ได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี)เพื่อสมรสกับนายปีเตอร์ เลด เจนเซ่น ชาวอเมริกัน ทรงมีพระโอรส ๑ องค์ และพระธิดา ๒ องค์

 

๒.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักราดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์ สวางควัฒน์บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมุฏราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕

 

๓.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐

 

๔.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงอภิเษกสมรสกับเรืออากาศโท(ยศในขณะนั้น) วีระยุทธ ดิษยะศริน ทรงมีพระธิดา ๒ พระองค์

 

 

        เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน ระหว่าง วันที่ ๒๒ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน และระหว่างที่ผนวช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน

 

 

        สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึก เรื่อง "ความทรงจำในการตามเสด็จต่าง ประเทศทางราชการ" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชนิพนธ์ที่ คนไทยควรจะได้อ่าน และตระหนักถึง พระปรีชาสามารถ ในด้านอักษรของพระองค์ท่านอีกอย่างหนึ่งด้วย

        ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปวงชนชาวไทยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงได้ร่วมกัน กำหนดให้วันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา เพื่อเป็น ที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่าน และเป็นการสำนึกถึงคุณของแม่ไปพร้อมด้วย ด้วยนับถือกันทั่วไปว่า พระองค์เปรียบประดุจแม่ของปวงชนชาวไทยทั้งปวง เคียงข้างพ่อของชาวไทย นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสมอมา


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้


โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทยในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ที่มาข้อมูล http://www.moe.go.th/ 
เรียบเรียงโดย กฤษฎา บิลเกษม ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน



เข้าชม : 4008


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      แหล่งท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ของจ.ตรังเป็น “สันหลังมังกร” 5 / ก.พ. / 2559
      พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 16 / ธ.ค. / 2558
      พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ 7 / ส.ค. / 2558
      พระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 / ก.พ. / 2558
      เลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีแวป...ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย 3 / ธ.ค. / 2551


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง
ถนนตรังคภูมิ  ตำบลกันตัง  อำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง 92110 โทรศัพท์ 075-252726 โทรสาร 075-252755 

kantang nfe@gmail.com
สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05