หากพูดถึงหนังสือถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาและพัฒนาประเทศในระยะยาว เนื่องจากการอ่านถือเป็นกระบวนการในการสะสมทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในยุคของสังคมแห่งปัญญา ความอยู่รอดและการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญมาก
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พฤติกรรมคนไทยในยุคปัจจุบันนั้นอ่านผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งในยุคปัจจุบันสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต อีบุ๊ก หรือดิจิทัล คอนเทนต์ นั้นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการอ่านหนังสือของคนไทย แต่ก็พบว่าปัจจัยเรื่องเพศ อายุ สถานภาพ และรายได้มีผลต่อพฤติกรรมการอ่านหนังสือ โดยหากเป็นเพศหญิง อายุน้อย สถานภาพโสดและรายได้สูง จะอ่านหนังสือบ่อยขึ้น ซึ่งเพศหญิงมีระยะเวลาในการอ่านหนังสือสูงกว่าเพศชาย 4 นาที/วัน และผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ จะมีระยะเวลาการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าผู้อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เล็กน้อย
ขณะที่พฤติกรรมการซื้อหนังสือนั้น จะซื้อเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุดคือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี โดยซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือคนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 6 เล่ม และค่อยๆ ลดจำนวนลง ซึ่งเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น ในจำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน รวมไปถึงนิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ โดยจะซื้อหนังสือไม่เกินครั้งละ 2 เล่ม มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือไม่เกินครั้งละ 500 บาท ขณะที่สถานภาพของคนโสดนิยมซื้อการ์ตูนและนวนิยายทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่าคนที่แต่งงานแล้ว โดยผลสำรวจยังระบุอีกว่าคนโสดจะซื้อหนังสือสูงกว่าคนที่แต่งงานประมาณ 42 บาท ฉะนั้นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากจึงเป็นคนโสดและมีรายได้สูง
สำหรับสิ่งที่เห็นมากขึ้นกับคนไทย โดยเฉพาะคนเกษียณที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีนั้นเริ่มหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น เหตุผลก็เพราะมีเวลาว่างในชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 4 เล่ม/ปี หนังสือที่นิยมอ่านส่วนใหญ่คือแนวสุขภาพ อาหาร ธรรมะ และศาสนา ซึ่งจะเลือกให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง แต่หนังสือที่อ่านกันมากในกลุ่มนี้จะเป็นหนังสือแนวธรรมะ เพื่อที่จะนำหลักธรรมมาใช้กับชีวิตประจำวัน
สำหรับรูปแบบการอ่านหนังสือของคนเกษียณนั้นจะเลือกอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม เนื่องจากหนังสือในรูปแบบดังกล่าวนั้นให้รสสัมผัสของกระดาษ กลิ่นกระดาษ และการถูกกระดาษหนังสือบาดมือให้อรรถรสมากกว่าการอ่านหนังสือผ่านรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทยนั้นยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐที่จะทำให้คนหันมาอ่านกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือให้สามารถอยู่รอดและผลิตหนังสือคุณภาพออกมาสู่ตลาด ซึ่งก็รู้ดีว่าหนังสือที่มีราคาถูกนั้นคุณภาพหรือเนื้อหาสาระก็จะลดน้อยลงไปตามคุณภาพของหนังสือเหล่านั้น
ที่ผ่านมาพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยนั้นมีน้อย แต่ก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ประชาชนอายุระหว่าง 15-69 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และ 8 จังหวัดใหญ่ใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สงขลา พิษณุโลก และชลบุรี รวม 12 จังหวัด ได้สำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 ถึง ม.ค. 2558 จำนวน 3,432 ตัวอย่าง ซึ่ง 88% นั้นอ่านหนังสือประเภทตำราเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และเว็บไซต์ ใช้เวลาอ่านต่อวันเฉลี่ย 46 นาที ส่วนผู้ที่ไม่อ่านมีเพียง 12% ที่ระบุว่าไม่รู้จะอ่านอะไร หรือมีปัญหาทางด้านสายตา
นอกจากนี้ พฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนไทยส่วนใหญ่ 99.1% จะซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ ส่วนช่องทางอื่นๆ อาทิ ซื้อออนไลน์กับร้านหนังสือ หรือโทรสั่งยังเป็นส่วนน้อยมาก โดยคุณสมบัติของร้านหนังสือนั้นคือการมีหนังสือที่หลากหลาย คิดเป็น 77% รองลงมาคือเลือกชมหนังสือได้ง่ายและใกล้บ้าน ที่ทำงาน สถานศึกษา 53.9% นอกจากนี้ผู้ที่ซื้อหนังสือ 20.2% เคยไปงานสัปดาห์หนังสือ งานมหกรรมหนังสือหรืองานบุ๊กส์แฟร์อื่นๆ
ขณะที่เมื่อเทียบเวลาการอ่านหนังสือกระดาษกับอีบุ๊ก (e-book) พบว่า อ่านหนังสือกระดาษ 90.51% อ่านอีบุ๊ก 9.49% ซึ่งอีบุ๊กนั้นถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับตลาดหนังสือกระดาษในประเทศไทย และยังพบว่ากลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์หนังสือที่จะได้ผลในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยมีอิทธิพลจากการแชร์ของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์จะมีผลมาก ขณะที่ผู้บริโภคอายุมากกว่า 40 ปี จะได้รับอิทธิพลหลักมาจากโทรทัศน์
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เข้าชม : 1003
|