ไมเกรน..ป้องกันได้
โดย ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไมเกรนเป็นอาการปวดศรีษะที่พบได้บ่อย โดยในระยะเวลา 1 ปี พบอัตราความชุกของไมเกรนในผู้หญิงร้อยละ 18 ในผู้ชายร้อยละ 6 และในเด็กร้อยละ 4
โดยอาการของการปวดไมเกรนประกอบไปด้วย ปวดศรีษะร่วมกับอาการทางระบบประสาท อาการทางระบบทางเดินอาหาร และอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดอาการไมเกรนครั้งแรกในช่วงอายุก่อน 30 ปี แต่ผู้ป่วยบางส่วนอาจจะมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 40-50 ปี ได้เช่นกัน การวินิจฉัยไมเกรนอาศัยลักษณะของอาการปวดศรีษะของผู้ป่วยร่วมกับอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ในปี 2004 ทาง HIS (International Heache Society) ได้จัดทำแนวทางในการวินิจฉัยโรคปวดศีรษะขึ้น นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไมเกรนเป็นภาวะความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่ทำให้สมรรถภาพในการทำงานของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก
พยาธิกำเนิด
ไมเกรนเป็นความผิดปรกติในกลุ่มโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย โดยมีอาการทางระบบประสาทก่อนมีอาการปวดศีรษะไมเกรน (migrain aura) เดิมเชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัวเกิดขึ้น หลังจากนั้นร่างกายมีการตอบสนองโดยการทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัว ซึ่งการขยายตัวของหลอดเลือดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะขึ้น
อาการ
อาการปวดศีรษะมีลักษณะสำคัญคือ มักมีอาการปวดข้างเดียวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดตื้อๆ (ประมาณ ร้อยละ 85% ) การปวดมักเป็นมาก ปานกลาง ถึงรุนแรง และมักเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ระยะเวลาของอาการปวดเกิดขึ้นได้นาน 4 ถึง 72 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่ และประมาณ 2 ถึง 48 ชั่วโมง ในเด็ก นอกจากนี้ยังพบอาการเบื่ออาหารได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนอาการคลื่นไส้พบได้ประมาณร้อยละ 90 ในขณะที่อาการอาเจียนพบในผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ส่วน ภาวะที่ผู้ป่วยไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้นก็พบได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมีดและเงียบเพราะจะทำให้อาการปวดศีระษะดีขึ้น HIS แบ่งไมเกรนออกเป็น 2 กลุ่ม คือไมเกรนร่วมกับมีอาการนำมาก่อน ( migraine with aura) และไมเกรนที่ไม่มีอาการนำมาก่อน (migraine without aura)
การรักษาไมเกรน
เริ่มด้วยการให้การวินิจฉัยโดยแพทย์ ให้คำอธิบายลักษณะของโรคให้ผู้ป่วยทราบ และวางแผนการรักษาโดยพิจารณาอาการและความเจ็บป่วยอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ร่วมด้วย โดยสภาวะที่มักพบในผู้ป่วยที่ป่วยเป็นไมเกรน ได้แก่ stroke, โรคลมชัก, ความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์คลั่ง ภาวะวิตกกังวล และ panic นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติทางจิตใจที่ทำให้เกิดความผิดปติระบบย่อยอาหาร เช่นท้องเสียจากภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ร่วมด้วยได้
การรักษาด้วยยา
แบ่งเป็นการรักษาแบบเฉียบพลันเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรน การรักษาแบบเฉียบพลันใช้เพื่อหยุดหรือลดอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้น ส่วนการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนใช้เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนแบบเฉียบพลันลง และช่วยให้ความรุนแรงของอากรปวดลดน้อยลงด้วย จากหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความทนต่อยาที่ใช้ในการป้องกันอาการปวดไมเกรน ทาง United States Headache Consortium ได้สรุป และจัดทำเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการไมเกรน คือ ควรให้การรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนในผู้ป่วยกรณีต่อไปนี้
- มีอาการไมเกรนเป็นซ้ำๆ ซึ่งอาการไมเกรนที่เป็นมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แม้จะได้รับการรักษาแบบเฉียบพลันเพื่อบรรเทาอาการปวดแล้วก็ตาม เช่น เกิดอาการไมเกรนมากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ แต่เวลาที่เกิดอาการจะรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้
- ได้รับการรักษาด้วยยาแบบเฉียบพลันแล้วแต่ไม่ได้ผลในการรักษาหรือมีข้อห้ามใช้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน
- ใช้ยาบรรเทาอาการปวดมากเกินไป
- ผู้ป่วยมีลักษณะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางระบบประสาท
- มีอาการปวดศีรษะบ่อยมาก (มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์) และมีความเสี่ยงต่อการเกิด rebound headache
- เป็นความต้องการของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยแบบป้องกันเพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนเฉียบพลัน
ยาที่ใช้รักษา
1. เป็นยาในกลุ่ม Beta-adrenergic blockers ได้แก่ propanolol, nadol, atenodol, metoprolol และ timolol ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนได้ แต่ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงทางพฤติกรรมได้ เช่น ง่วงซึม อ่อนล้าง่าย, การนอนหลับผิดปกติ ฝันร้าย, ภาวะซึมเศร้า, ความจำเลวลง และประสาทหลอน ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จะต้องหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไมเกรนที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
2. ยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่ม tricyclic antidepressant, amitriptyline เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการไมเกรน อารข้างเคียงของยานี้คือ รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น, ปากแห้ง, และง่วงซึม
3. ยากันชัก มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ายากันชักสามารถนำมาใช้ป้องกันไมเกรนมากขึ้น เช่น sodium valproate, toprimate ซึ่งยาตัวนี้นอกจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรน ยังพบว่าการใช้ยาต่อเนื่องมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้ (ซึ่งยาป้องกันไมเกรนตัวอื่นนั้นมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา)
บทส่งท้ายโดยคณะ DMH Staff
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมียาที่ใช้ป้องกันรักษาไมเกรนได้ แต่การมีพฤติกรรมสุขาภาพที่ดี เป็นเกราะป้องกันโรคที่ดีที่สุด นั่นคือ
1. งดเว้นสิ่งเสพติด สุรา เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การวิ่งจ๊อกกิ้ง การเต้นแอโรคบิค ว่ายน้ำ เป็นต้น โดยทำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
3. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบถ้วน
เมื่อท่านสามารถทำเช่นนี้ได้ ก็เป็นวิธีที่ป้องกันโรคที่ดีที่สุด
**********************************************
อ้างอิง :
เอกสารเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ ของ กรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
วันที่ 6-8 ตุลาคม 2547 ณ โรงแรมอิมพิเรียลควีนศ์ปารค์ กรุงเทพฯ
ผู้แต่ง: ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - dmhstaff@dmhthai.com - 11/10/2004
เข้าชม : 1129
|