ยกเครื่องหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ตอบโจทย์ "ประยุทธ์"?!?
ว่าไปแล้วการพูดผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์และความเป็นพลเมืองที่ดี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่พูดย้ำมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้โทนเสียงดูจะเข้มและขึงขังกว่าทุกครั้ง เนื่องจากให้เวลากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ไขมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับไม่เห็นผลชัดเจน ครั้งนี้ท่านจึงกำชับอีกครั้ง แถมพ่วงอีกหลายปัญหาทั้งปัญหาการกวดวิชา การให้การบ้านเยอะ ปัญหาความต้องการของแรงงาน ลูกจ้างวิชาชีพ ฯลฯ กระทั่งถึงกับปรารภว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้งบประมาณมากที่สุด แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นอย่างไร ก็คงทราบดีอยู่ พล.อ.ประยุทธ์จึงขีดเส้นให้ ศธ.แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีการศึกษานี้ให้ได้
การเอาจริงเอาจังของ พล.อ.ประยุทธ์ในหนนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องแถลงข่าวผลการดำเนินงานของ สพฐ.ตามนโยบายของ คสช.เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ทั้งโครงสร้างหลักสูตร การเรียนที่เหมาะสม การแบ่งกลุ่มสาระวิชาออกเป็น 8 กลุ่มสาระว่าเหมาะสมหรือไม่ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีการปรับปรุงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา
โดยนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้เหตุผลว่า "แม้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จะครอบคลุมการเรียนรู้ที่สำคัญ สอดคล้องกับการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษามีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักสูตรรวมถึงการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้นเพื่อคุณภาพของผู้เรียน"
คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ มาจากปัญหารุมเร้าหลายด้าน การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งนี้ สังคมจึงคาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสารพัด ที่ไม่ใช่แค่จากเสียงสะท้อนของ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่รวมถึงเสียงสะท้อนที่มาจากสังคม ผู้ปกครอง นักวิชาการตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วย และต้องไม่ลืมว่า สพฐ.เพิ่งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อ 6 ปีก่อน เรียกว่าเพิ่งใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ครอบคลุมทุกช่วงชั้นไม่นาน สพฐ.ก็มีแนวคิดที่จะทบทวนกันใหม่อีกรอบ
การปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าต้องมานั่งปรับใหญ่ทุก 6 ปี ครูผู้ใช้หลักสูตรคงตามไม่ทันและที่สำคัญที่สุดผลกระทบย่อมตกอยู่กับผู้เรียนเต็มๆ ทุกครั้งที่มีการปรับปรุงหลักสูตร เด็กนักเรียนมักเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่คิดหลักสูตร ถ้าปรับแล้ว ระบบการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้น คงไม่มีใครคัดค้านและกังวล แต่ที่ผ่านมาการปรับปรุงหลักสูตร แต่ละครั้ง มีแต่เสียงสะท้อนกลับมาว่ายิ่งปรับ การศึกษายิ่งถอยหลังเข้าคลอง ยิ่งปรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กก็ยิ่งต่ำลงและเกิดปมปัญหาทางการศึกษาใหม่ๆ ตามมาเรื่อย
ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้หลักสูตรการขั้นพื้นฐานเกิดการปรับปรุงครั้งใหญ่ไม่ถี่เกินไปนัก แล้วที่เหลือก็แค่ปรับเล็กให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนอกจากจะไม่เพิ่มภาระพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องซื้อตำราเรียนใหม่ให้บุตรหลานแล้ว ครูเองก็ไม่เป็นภาระมากเกินไป เพราะการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่นั้น แต่ละครั้ง สพฐ.ต้องมาอบรมพัฒนาครูทั่วประเทศให้รู้วิธีการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผลและโครงสร้างหลักสูตรใหม่ด้วย ซึ่งหากครูตามไม่ทัน ถึงจะปรับปรุงหลักสูตรใหม่อย่างไร ก็จะไม่มีประโยชน์ และที่สำคัญเด็กจะกลายเป็นเหยื่อทุกครั้งที่มีการปรับปรุงหลักสูตรด้วย
คิดให้รอบคอบแล้วเดินหน้าแก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างรัดกุม เพื่อเด็กจะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาไทย!!