โครงการพระราชดำริ ฝายชะลอน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกขานกันว่าฝายชะลอความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน
Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำรัสว่า "การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย"
ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า "...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็ก ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ..."
ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท ดังพระราชดำรัสคือ
Check Dam มี ๒ อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง
การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า "...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึกเพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป..."
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นขึ้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือให้ดำเนินการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน ๒ เดือนการเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้
ประเภทของฝายชะลอน้ำหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น แบ่งได้ ๒ ประเภท
๑. ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นฝายที่กักเก็บน้ำให้ไหลช้าลงและสามารถซึมลงใต้ผิวดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่
พื้นบริเวณนั้น
๒. ฝายดักตะกอนดิน ทราย เป็นฝายที่ดักตะกอนดินและทรายไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง
รูปแบบของฝายสามารถแบ่งออกได้ ๓ แบบ
๑. แบบท้องถิ่นเบื้องต้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฝายแม้ว" เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุมีอยู่ตามธรรมชาติที่ เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย หรือร่องน้ำ โดยจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่รอบๆ ฝายได้
๒. แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นการก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วย หรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน
๓. แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ ทำให้สามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างขึ้นอยู่กับขนาดของลำห้วย ซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน ๔ เมตร
ประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ
๑. ช่วยเก็บกักน้ำ
๒. ช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า
๓. ช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย
๔. ช่วยกักเก็บตะกอนและวัสดุต่างๆ ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วย
๕. ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
๖. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค
เข้าชม : 784
|