บทความสุขภาพ สั่งน้ำมูกแรงๆอาจทำให้เป็นโรคลมอัมพาตได้โดยเฉพาะหากเส้นเลือดโป่งพองอยู่แล้ว‏
จันทร์ ที่ 30 เดือน กันยายน พ.ศ.2556
|
|
วารสารวิชาการแพทย์ “โรคลมอัมพาต” ของสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิจัยศูนย์มหาวิทยาลัยแพทย์ดัตช์ ได้กล่าวเตือน หลังจากการศึกษา คนไข้เส้นเลือดในสมองแตกมาเกือบ 3 หมื่นรายว่า การดื่มกาแฟ การมีเซ็กซ์และสั่งน้ำมูกแรงๆอาจทำให้เป็นโรคลมอัมพาตได้
เพราะการกระทำเหล่านั้นเป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้เส้นเลือดแตกได้ โดยเฉพาะหากเส้นเลือดโป่งพองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลให้สมองเสียหาย หรือเสียชีวิตได้ ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า กาแฟอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้ 1 ใน 10 ราย แต่คอกาแฟเองจะเสี่ยงสูงขึ้น 1.7 เท่า เท่านั้น โดยปกติแล้ว แม้ว่าในคน 50 คน จะมีป่วยเส้นเลือดโป่งพองสัก 1 ราย แต่ที่ถึงกับแตกนั้น จะมีเพียงแค่ 2-3 รายเท่านั้น
ดร.โมนิก วีลัก หัวหน้านักวิจัย ได้แนะนำว่า ควรจะลดการดื่มกาแฟให้น้อยลง หรือหากท้องผูกเป็นประจำก็ใช้ยาระบายเสียบ้าง ก็จะลดความเสี่ยงของเส้นโลหิตแตกให้น้อยลงได้.
โรคเส้นเลือดในสมองแตก
เส้นเลือดในสมองแตก คืออาการที่หลอดเลือดในสมองฉีกขาด จึงทำให้เลือดออกในสมอง ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้นเลือด ที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังไต และอวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งผนังหลอดเลือดขยายตัวหนาขึ้นทำให้หลอดเลือดมีขนาดแคบลง จึงทำให้ปริมาณเลือดที่ลำเลียงไปที่ไตมีน้อยลงและทำให้ส่วนประกอบที่อยู่ใน ไตที่เรียกว่า เร็นนิน เกิดการเพิ่มความดันในเลือดให้สูงขึ้น ทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า โรคความดันโลหิตสูงจากหลอดเลือดไต
อาการของโรคเส้นเลือดในสมองแตก
อาการของเส้นเลือดในสมองแตกจากความดันสูงมักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแต่บาง รายอาจไม่มีก็ได้ คลื่นไส้ อาเจียน อาจหมดสติหรือระดับความรู้สึกตัว แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัดหรือถ้าเกิดในสมองเด่นทำให้พูดไม่ได้ อาการและอาการแสดงจะขึ้นกับขนาดของก้อนเลือด และอาการจะเป็นขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเส้นเลือดแตกก่อนแล้วล้มลงทำให้เข้าใจผิดว่าเลือดออกจาก ศีรษะกระแทกพื้น
อาการมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด!
โรคเส้นเลือดในสมองแตก ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ทางระบบประสาท ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอย่างเฉียบพลันทันทีทันใด แต่กลับใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วตั้งแต่แรก จะสามารถลดอัตราการตายและพิการลงได้มาก หรือสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ โดยหลอดเลือดในสมองแตกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1.เส้นเลือดแตกในเนื้อสมอง มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นมาทันที เนื่องจากเลือดที่ออกจะไปกดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ และนอกจากนี้ยังเกิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมักเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ามีเลือดออกมาเป็นจำนวนมาก หรือเลือดออกในก้านสมอง ผู้ป่วยอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
2.เส้นเลือดแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง สาเหตุมักเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดสมองบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ เมื่อมีเลือดออกในทันทีทันใด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตได้ตั้งแต่ระยะแรก จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
รู้ทันปัจจัยเสี่ยงเลี่ยงโรคเส้นเลือดในสมองแตก
ความน่ากลัวของโรคเส้นเลือดในสมองแตก คือวันนี้คุณอาจพูดคุย หรือทะเลาะกับใครต่อใครได้ เดินวิ่ง ทำอะไรด้วยตัวเองได้ แต่วันพรุ่งนี้อาจต้องทนทรมานกับการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง มีลมหายใจแต่ไร้ความรู้สึก ไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าอนาคตจะหาย หรือต้องรอความตายอย่างช้าๆ
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานหนัก ละเลยการออกกำลังกาย บริโภคแต่สิ่งที่ชอบแต่ไร้ประโยชน์ ความอ้วน ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ และส่วนหนึ่งมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ แต่หากปล่อยปละละเลยก็จะค่อยๆ สะสมโดยไม่รู้ตัว รู้ตัวก็ต่อเมื่อปรากฏอาการรุนแรงจนสายเกินแก้เสียแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุที่สูงวัยขึ้น พันธุกรรม เชื้อชาติ เป็นต้น
สัญญาณเตือนโรคเส้นเลือดสมองแตก
อาการส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คือ มีอาการแขนขาอ่อนแรง อาจเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางคนหน้าเบี้ยว หรืออาจมาด้วยอาการชา ตาอาจจะมองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นข้างหนึ่ง หรือมองเห็นแค่ครึ่งหนึ่งของตาแต่ละข้างก็ได้ มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน หรือเวียนศีรษะ อาเจียน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด ซึมลง หรือหมดสติ มีอาการชัก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายๆ รูปแบบ แล้วแต่ตำแหน่งของสมองที่มีการขาดเลือด หรือมีเลือดออกในสมอง
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทยที่พบ คือ รอจนโรคเป็นมากแล้วค่อยไปหาหมอ ทำให้กว่าจะถึงมือหมอผู้ป่วยก็เป็นอัมพาตไปแล้ว ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองดูว่า คุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือไม่
- มีอาการปวดหัวในตอนเช้าบ้างหรือไม่
- เคยรู้สึกว่าแขนไม่มีแรงบ้างหรือไม่
- เคยรู้สึกตาพร่ามัวบ้างหรือไม่
หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการน่าสงสัยว่าอาจเกิดโรคเส้นเลือดสมอง ให้ลองทดสอบผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติ 3 ข้อ เรียกย่อๆ ว่า STR ดังต่อไปนี้
S: (Smile) ให้ผู้ป่วยยิ้ม
T: (Talk) ให้ผู้ป่วยพูดประโยคที่มีสาระสมบูรณ์ เช่น วันนี้อากาศสดใสดีจัง
R: (Raise) ให้ผู้ป่วย (ยก) ชูแขนสองข้างขึ้น
อาการ อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือ ให้ผู้ป่วยแลบลิ้นออกมา ถ้าลิ้นม้วนหรือเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง แสดงว่าส่ออาการอันตรายแล้ว
โรคหลอดเลือดสมองแตก อาจฟังดูน่ากลัว แต่สามารถป้องกันได้ หันมาเอาใจใส่สุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้มากขึ้น ตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก กินผักและผลไม้ทุกวัน งดบุหรี่เลิกเหล้า รู้จักปล่อยวาง ไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเครียด ทำตัวให้ผ่อนคลาย เดินทางสายกลางดีที่สุด แล้วคุณก็จะหลุดพ้นจากโรคหลอดเลือดสมองแตกได้อย่างแน่นอน
พยายามเป็นคนช่างสังเกตกับอาการผิดปกติ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกายของเราหรือคนใกล้เคียง โรคร้ายหรือรุนแรงบางอย่างอาจจะแก้ไขได้ ที่เป็นหนักก็จะได้เบาบางลง โรครุนแรงหลายโรคส่วนใหญ่ป้องกันได้ ถ้าเรารู้เสียแต่เนิ่นๆ
ที่มา : women.sanook.comwomen.sanook.com/941348/เส้นเลือดในสมองแตก-โรคร้ายที่มาแบบไม่ตั้งตัว/
มีหลายคนเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เซ หกล้ม หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เมื่อถูกนำส่งโรงพยาบาล ได้รับการวินิจฉัยว่า เส้นเลือดสมองตีบ หรือ แตก
นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์
มีหลายคนเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เซ หกล้ม หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เมื่อถูกนำส่งโรงพยาบาล ได้รับการวินิจฉัยว่า เส้นเลือดสมองตีบ หรือ แตก ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติหรือไม่?
นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา อธิบายว่า คนไข้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ส่วนใหญ่มาโรงพยาบาลด้วยปัญหาเส้นเลือดสมองตีบ ส่วนน้อยจะมาด้วยเส้นเลือดแตก ดังนั้นแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยว่าตีบหรือแตก
ไม่ว่าเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ผลที่แสดงออกเหมือนกัน คือ เนื้อสมองเกิดการขาดเลือด จึงมีลักษณะอาการคล้ายกัน ต่างกันนิดเดียว คือ คนไข้เส้นเลือดสมองแตกอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ถ้าเป็นตำแหน่งที่ควบคุมแขนขาคนไข้จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพาต แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวกับพฤติกรรมจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติออกมา ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์สมองสูญเสียตรงตำแหน่งไหน
กรณีเส้นเลือดสมองตีบ ถ้ามาโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่ถ้าเลยจากนั้นอาจไม่ได้ผลหรือเกิดอันตราย แต่ผลการวิจัยพบว่า ยาดังกล่าวสามารถให้ได้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นโอกาสที่คนไข้มาถึงโรงพยาบาลทันเวลาและได้รับการรักษาก็มีมากขึ้น
ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเส้นเลือดสมองแตก การพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของเลือดที่ออกในสมอง ถ้าขนาดเล็กอาการของโรคอาจหายไปได้เอง เพราะเลือดดูดซึมกลับได้เอง แพทย์อาจไม่ทำอะไร ให้พักผ่อนและรักษาโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่คนไข้เส้นเลือดสมองแตกอีกกลุ่มหนึ่งก้อนเลือดใหญ่มาก ไม่สามารถรอให้ดูดกลับเองได้ ต้องผ่าตัดเอาเลือดออก การรักษาอาจต้องทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูความพิการ หรือสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา
หลายกรณีคนไข้ล้มก่อนมาโรงพยาบาล? นพ.เกรียง กล่าวว่า เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ หรือแตก ทำให้คนไข้แขนขาอ่อนแรงหกล้ม ญาติไปพบก็แยกไม่ออกว่าคนไข้ล้มลงไปแล้วอ่อนแรง หรืออ่อนแรงแล้วล้มลงไป แต่คนที่จะบอกได้ คือ แพทย์ผู้รักษาเพราะสามารถดูรอยโรคจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หาสาเหตุได้ว่าอาการแขนขาอ่อนแรงเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคทางสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ ตรงนี้มีส่วนสำคัญมากเพราะในปัจจุบันมีการทำประกันชีวิต การเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุสามารถเคลมประกันได้เงินสูงกว่า ดังนั้นแพทย์ต้องวินิจฉัยให้ชัดเจน
ควรพาคนไข้ไปโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์เฉพาะทาง? นพ.เกรียง กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำ คือ ไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ณ เวลานั้น เพราะการรักษายิ่งเร็วยิ่งเป็นผลดี ปัจจุบันโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มีอยู่ทุกจังหวัดสามารถดูแลคนไข้ที่มีปัญหานี้ได้ ส่วนโรงพยาบาลชุมชนมีเพียงบางแห่งเท่านั้น ที่ผ่านมาพบว่าคนไข้ที่มีอาการแล้วไปรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านอาการดีกว่าที่พยายามเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะระยะเวลาที่สูญเสียไป มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไข้เป็นอย่างมาก ส่วนโอกาสฟื้นกลับคืนมาเป็นปกติคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด มีเซลล์สมองส่วนหนึ่งสูญเสียแน่ ไม่ว่าตีบหรือแตก สมองต้องขาดเลือด โอกาสสูญเสียเซลล์สมองมีไม่มากก็น้อย ดังนั้นถ้าไปพบแพทย์เร็วโอกาสสูญเสียเซลล์สมองก็น้อย โอกาสกลับมาใกล้เคียงปกติก็มีมากกว่า
ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก คือ อายุ ยิ่งอายุมากโอกาสเกิดก็สูง การสูบบุหรี่จะไปทำลายเส้นเลือดต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยง มีโรคประจำตัว ต้องรักษาและควบคุมให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ความเสี่ยงก็ลดลง
มีตัวอย่างคนไข้ชายคนหนึ่งเป็นอัมพาตเมื่ออายุ 34 ปี ตรวจร่างกายไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง ซักประวัติพบว่า สูบบุหรี่วันละ 2 ซองมา 10 กว่าปี หลังจากได้รับการรักษาจนหายแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ เดินได้ พอคนไข้หยุดสูบบุหรี่อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ
20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เป็นอะไรอีกเลย ดังนั้นสาเหตุของคนไข้รายนี้มีอย่างเดียว คือ การสูบบุหรี่เพราะไม่ได้เป็นโรคอื่นเลย
นอกจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว คนไข้หัวใจเต้นผิดจังหวะก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะจังหวะที่หัวใจเต้นช้า เลือดที่อยู่ในเส้นเลือดมีโอกาสแข็งตัวเป็นก้อน ลอยไปตามเส้นเลือด ไปอุดตันเส้นเลือดต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะเส้นเลือดสมอง ตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้เป็นอัมพาต กรณีนี้คนไข้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โรคหัวใจในการดูแลรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างเคร่งครัด
อีกตัวอย่างเป็นคนไข้ ด.ญ.อายุ 12 ขวบมาด้วยอาการอัมพาต ปรากฏว่าเด็กคนนี้มีเนื้องอกภายในห้องสูบฉีดโลหิตของหัวใจ พอเศษเนื้องอกหลุดออกมาสู่เส้นเลือดก็ไปอุดตันเส้นเลือดสมอง วิธีการรักษาคือผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
ท้ายนี้แนะนำว่า ถ้าพบคนไข้ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที อย่ารีรอ เพราะที่ผ่านมามักเจอปัญหารอให้ญาติมารับ บางคนอยู่บ้านกัน 2 คนตายาย กว่าญาติจะมารับแล้วนำส่งโรงพยาบาลก็สายเกินไปแล้ว.
เข้าชม : 818
|
|
บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด
บรรเทาความหิวยามดึกแบบไม่รู้สึกผิด 12 / พ.ค. / 2557
แครอตกินพร้อมกับน้ำมันงา มีประสิทธิภาพมากขึ้น 5 / ม.ค. / 2557
30 ยังแจ๋ว? อาจไม่ใช่อย่างที่คิด เหตุร่างกายแก่ลงปีละ 1% 24 / ธ.ค. / 2556
วิธีฟื้นฟูจิตใจ แบบง่ายๆ 15 / ธ.ค. / 2556
10 วิธีป้องกันโรคร้ายจากเทคโนโลยี 18 / พ.ย. / 2556
|