ยาลดความอ้วน
เครียด-อ้วน โดดสะพาน [ ไทยรัฐ ฉบับ 22 เม.ย. 51 - 04:24]
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 เม.ย. พ.ต.ท.ดำรงค์ มาดี สารวัตรเวรสภ.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ รับแจ้งมีหญิงสาวกระโดดลงจากทางขึ้นสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมจากฝั่งสำโรงใต้จะข้ามไปฝั่งถนนสุขสวัสดิ์.. เสียชีวิตคาที่..
ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณใต้ทางขึ้นสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม พบศพหญิงสาวทราบชื่อภายหลังคือ นางโสภิดา หมู่วิริยะหรืออ้อย อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105/151 หมู่ 1 ต.บางแขยง อ.เมืองปทุมธานี...จุดที่พบศพนางโสภิดา พบรถเก๋งมิตซูบิชิ..ภายในรถพบซองยาแคปซูล 1 ซองมีตัวยาอยู่จำนวนหนึ่ง...
ด้านนางบุปผา มารดาของผู้ตายระบุว่าลูกสาวมาพักค้างคืนที่บ้าน 2 วัน ชอบบ่นเรื่องน้ำหนักตัวให้ฟังเป็นประจำ บอกว่ากำลังกินยาลดความอ้วนอยู่ พวกญาติพี่น้องก็ทักว่าผอมอยู่แล้ว ทำไมต้องกินยาลดอ้วนอีก ผู้ตายซึ่งมีท่าทีวิตกจริตถึงกับโวยพี่น้องลั่นว่า เพื่อนทักว่าอ้วน แต่ญาติกลับบอกว่าผอม ตกลงอ้วนหรือผอมกันแน่ ตนก็พยายามพูดปลอบใจตลอดเวลาแต่ไม่ดีขึ้น เช้าวันเกิดเหตุก็รีบร้อนขับรถออกจากบ้านไปไม่คิดว่าจะฆ่าตัวตายดังกล่าว ....
สนใจรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมอ่านได้ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์.....คลิกที่นี่ค่ะ.....
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์: เมื่อวันที่ 22 เมษายน นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา(อย.) แถลงเกี่ยวกับข่าวพบหญิงกระโดดทางด่วนเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานยาลดความอ้วนนั้น
เลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ยาลดความอ้วนที่ส่วนใหญ่มักใช้กัน ได้แก่ ยาเฟนเตอมีน ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ใช้เป็นยาลดความอยากอาหาร ซึ่งจากข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของการรักษากำหนดให้ใช้ในระยะสั้นคือ 4-6 สัปดาห์ และต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน เพราะมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ อีก ได้แก่ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ไปนานๆ อาจถึงขั้นติดยาได้ หรือทำให้น้ำหนักที่ลดลงคืนกลับมาอีก รวมทั้งอาจพบอาการอื่นๆ อีก คือ ปากแห้ง อาเจียน ท้องผูก เหงื่อออก ตื่นเต้น ม่านตาขยาย ประสาทหลอน อาจทำให้เกิดโรคจิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก โคม่า และตายได้
"การรับประทานยาลดความอ้วนติดต่อกันเวลานานอาจทำให้เกิดอาการทางจิตและประสาทได้ เหมือนกันคนกินยาบ้า ดังนั้นการใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะมีผลกระทบต่อสมองและร่างกายหลายส่วน และมีผลข้างเคียงหลายอย่าง .............
สนใจรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมอ่านได้ที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.....คลิกที่นี่ค่ะ.....
|
โรคอ้วนหรือความอ้วนนับเป็นปัญหาสำคัญซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ กล่าวคือ พบความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเส้นเลือด ยาลดความอ้วนจะออกฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วย สามารถต้านทานต่อความกดดันทางสรีรวิทยาคือ ความหิว และความกดดันทางด้านจิตใจคือ ความอยากอาหารได้ ซึ่งจะนำไปสู่น้ำหนักที่ลดลงและสุขภาพที่ดีขึ้น
ประเภทของยาลดความอ้วน
ยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางแบ่งออกตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้เป็นกลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน catecholamine pathways ได้แก่ Amphetamine, Phenmetrazine (ในปัจจุบันยา 2 ชนิดนี้ เลิกใช้เป็นยาลดความอ้วนแล้ว), Amfepramone (Diethylpropion), Phentermine, Mazindol, Cathine (Norpseudoephedrine) และ Phenylpropanolamine ยาในกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์กระตุ้น ระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค
2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน serotonin pathways ได้แก่ Fenfluramine, Dexfenfluramine, และ Fluoxetine ยาในกลุ่มนี้จะไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทซิมพาเธติค
ปัจจุบันยาลดความอ้วนที่กล่าวมาข้างต้นถูกควบคุมโดยกฎหมาย 2 ฉบับ โดยพิจารณาจาก ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาเป็นหลัก ทำให้แบ่งยาลดความอ้วนออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มที่ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้แก่ Fenfluramine Dexfenfluramine, Fluoxetine และ Phenylpropanolamine
2. กลุ่มที่ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ได้แก่ Amfepramone, Phentermine, Mazindol, Cathine เป็นต้น
อันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ
เป็นเวลานานกว่า 50 ปีแล้วที่มีการนำเอา Amphetamine มาใช้เป็นยาลดความอ้วน หลังจากที่นำมาใช้ไม่นานก็มีการพัฒนาค้นพบ dextrorotatory isomer ของ Amphetamine ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งการค้นพบครั้งหลังนี้มิใช่เป็นเพียงการค้นพบฤทธิ์ในการลดความอยากอาหารเท่านั้น แต่ยังพบฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข (euphoriant properties) ดังนั้นจึงได้นำไปสู่การค้นพบสารกระตุ้นประสาท เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดอีกหลายตัว เช่น Phenmetrazine เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลให้หลายประเทศเลิกใช้ amphetamine และ stereoisomer ของมันทุกตัวเป็นยาลดความอ้วน และจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถึงแม้ว่ายาลดความอ้วนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางน้อยกว่า Amphetamine มากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Amfepramone, Phentermine, Maziondol หรือ Cathine ก็ตาม แต่ทุกตัวก็จะทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ กล่าวคือ พบอาการนอนไม่หลับกระวนกระวาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต็นเร็ว ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก
อันตรายอีกประการหนึ่งของการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้คือ การรับประทานร่วมกันกับ ยาลดความดันโลหิตซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้ง adrenergic nuerons เช่น guanethidine, debrisoquine เป็นต้น เพราะไม่เพียงแต่มันจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง norepinephine จาก adrenergic nuerns มากขึ้นแล้ว มันยังไปยับยั้งการนำเอา norepinephine กลับเข้าไปเก็บใน nuerons อีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตกลุ่มดังกล่าวลดลง หากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องใช้ยาลดความอ้วนจึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มอื่น เช่น Fenfluramine หรือ Dexfen fluramine เป็นต้น ด้วยเหตุผลในการออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทซิมพาเธติคนี้เอง เป็นเหตุให้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคต้อหินและผู้มีแนวโน้มของอาการทางจิต
การควบคุมยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุขเริ่มควบคุมยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 โดยออกประกาศให้ Amferpramone เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นจึงประกาศให้ Mazindol, Phenmetrazine และ Phentermine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ในปี พ.ศ.2524, N-ethylampheramine ในปี พ.ศ.2525, Fencametamine ในปี พ.ศ.2529 ส่วน Cathine ถูกประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ในปี พ.ศ.2529 ต่อมายาดังกล่าวทั้ง 7 ชนิด ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งกฎหมายระบุห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขายนำเข้าและส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้รับมอบหมาย
ดังนั้นการกระจายยาลดความอ้วนกลุ่มดังกล่าวจึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2536 กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงเป็นผู้นำสั่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เพียงผู้เดียว แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ตามคำขอซื้อของแพทย์ผู้รับอนุญาต ยาลดความอ้วนจะถึงมือประชาชนได้ก็เฉพาะมีคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ในทางทฤษฎี แพทย์จะต้องจัดทำรายงานการสั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วยและรายงานยอดคงเหลือ ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบทุกครั้งก่อนการซื้อยาครั้งต่อไป ทำให้การควบคุมยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในปัจจุบันเป็นไปแบบครบวงจร
แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่นอนว่าแพทย์ผู้รับอนุญาตทุกคนจะได้มีการดูแล ควบคุมการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือไม่ และในส่วนของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาเองก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะทำให้ทราบถึงการปฏิบัติอันไม่ถูกต้อง ของสถานพยาบาลต่างๆ ที่สำนักงานฯขออนุญาตให้มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครอง
*******************************************
นิตยสารใกล้หมอปีที่ 24 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2543 หน้า 104-106
เข้าชม : 1164
|