วันครู 2559 วันที่ 16 มกราคม วันครูแห่งชาติ เนื่องในวันครู เรามีบทความ ประวัติวันครู กลอนวันครู 2559 คําขวัญวันครู 2559 มาฝาก
เดือนมกราคมเวียนมาถึงอีกครั้ง บรรดานักเรียนทั้งหลายคงจำกันได้ดีว่า วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครู ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนสั่งอบรมวิชาให้เรา วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักถึงความหมายของครู ประวัติวันครู ความเป็นมาเกี่ยวกับวันครู และ คําขวัญวันครู 2559 มาฝากค่ะ
ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน
ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี
ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆ คน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง
ระวัติความเป็นมาวันครู
วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู
ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว
งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
คำขวัญวันครู
คำขวัญวันครู 2559 เจ้าของคำขวัญ : พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
"อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ"
คำขวัญวันครู 2558 เจ้าของคำขวัญ : เด็กหญิงอนุสรา ชื่นบาล
"เกียรติครูยิ่งใหญ่ น้อมใจบูชา เลิศล้ำคุณค่า ศรัทธาพระคุณ"
คำขวัญวันครู 2557 เจ้าของคำขวัญ : นายธีธัช บรรณะทอง
"เทิดพระเกียรติทั่วหล้า กตัญญูบูชา แม่และครูแห่งแผ่นดิน"
คำขวัญวันครู 2556 เจ้าของคำขวัญ : นายสะอาด สีหภาค
"แปดสิบพรรษา พระราชินี ราษฏร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน"
คำขวัญวันครู 2555 เจ้าของคำขวัญ : นางสาวขนิษฐา อุตรโส
"บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล"
คำขวัญวันครู 2554 เจ้าของคำขวัญ : นางกนกอร ภูนาสูง
"เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล"
คำขวัญวันครู 2553 เจ้าของคำขวัญ : นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์
"น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที"
คำขวัญวันครู 2552 เจ้าของคำขวัญ : นางนฤมล จันทะรัตน์
"ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู"
คำขวัญวันครู 2551 เจ้าของคำขวัญ : นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม
"ครูของแผ่นดิน เลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพล ชนบูชา"
คำขวัญวันครู 2550 เจ้าของคำขวัญ : นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์
"สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู"
คำขวัญวันครู 2549 เจ้าของคำขวัญ : นางพรรณา คงสง
"ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู"
คำขวัญวันครู 2548 เจ้าของคำขวัญ : นายประจักษ์ หัวใจเพชร
"ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นดินศรัทธาบุชาครู"
คำขวัญวันครู 2547 เจ้าของคำขวัญ : นางสาวพรทิพย์ ศุภกา
"ครู คือ พลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู"
คำขวัญวันครู 2546 เจ้าของคำขวัญ : นางสมปอง สายจันทร์
"ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู"
คำขวัญวันครู 2545 เจ้าของคำขวัญ : นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี
"สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู"
คำขวัญวันครู 2544 เจ้าของคำขวัญ : นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์
"พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู
คำขวัญวันครู 2543 เจ้าของคำขวัญ : นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายประจักษ์ เสตเตมิ
"ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี"
"สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา"
คำขวัญวันครู 2542 เจ้าของคำขวัญ : นายปัญจะ เกสรทอง และนางเซียมเกียว แซ่เล้า
"ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา"
"ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู"
คำขวัญวันครู 2541 เจ้าของคำขวัญ : นายชุมพล ศิลปอาชา
"ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี"
คำขวัญวันครู 2540 เจ้าของคำขวัญ : นายสุขวิช รังสิตพล
"ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและน้ำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา"
คำขวัญวันครู 2539 เจ้าของคำขวัญ : นายสุขวิช รังสิตพล
"ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน"
คำขวัญวันครู 2538 เจ้าของคำขวัญ : นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
"อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี"
คำขวัญวันครู 2537 เจ้าของคำขวัญ : นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
"ครู คือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี"
คำขวัญวันครู 2536 เจ้าของคำขวัญ : นายสัมพันธ์ ทองสมัคร
"ครู คือ นักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม"
คำขวัญวันครู 2535 เจ้าของคำขวัญ : ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
"ครู คือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ
คำขวัญวันครู 2534 เจ้าของคำขวัญ : พลเอก มานะ รัตนโกเศศ
"ครู คือ ผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี"
คำขวัญวันครู 2533 เจ้าของคำขวัญ : พลเอก มานะ รัตนโกเศศ
"ครู คือ ผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี
คำขวัญวันครู 2532 เจ้าของคำขวัญ : พลเอก มานะ รัตนโกเศศ
"ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย"
คำขวัญวันครู 2531 เจ้าของคำขวัญ : นายมารุต บุญนาค
"ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี"
คำขวัญวันครู 2530 เจ้าของคำขวัญ : นายมารุต บุญนาค
"ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี"
คำขวัญวันครู 2529 เจ้าของคำขวัญ : นายชวน หลีกภัย
"ครู คือ ผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย