วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"
เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันแรงงานแห่งชาติ ประจำประเทศไทย
ในประเทศยุโรป เรียกว่า "วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day) ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน
ประเทศไทยประกาศวันแรงงานแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ การจัดงานวันกรรมกรหรือวันแรงงานแห่งชาตินั้นมีประวัติสืบเนื่องมาจาก เมย์เดย์ หรือวันที่ ๑ พฤษภาคม ตามลัทธิโรมันโบราณ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นเครื่องเตือนใจผู้ใช้แรงงานให้ตระหนักถึงความรับ ผิดชอบ และสำนึกถึงรากฐานความมั่นคงของการประกอบอาชีพอันเป็นประโยชน์ทั้งทางส่วน ตัวและประเทศชาติ
สำหรับในเมืองไทยนั้น วันเมย์เดย์เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้เสนอให้เลือกเอาวันต่อไปนี้เป็นวันกรรมกร คือ
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม เนื่องจากเป็นวันประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับกรรมกร
- วันที่ ๓๐ มกราคม เนื่องจากวันดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการ สำนักงาน และกรมในกระทรวงเศรษฐการ จัดตั้งกองกรรมกรขึ้นในกรมพาณิชย์ เป็นวันที่สำคัญของการบริหารกรรมกรในประเทศไทย
- วันที่ ๒๙ กันยายน เพราะในวันนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ และเป็นวันที่กรรมกรไทยได้เริ่มสร้างงานใหญ่ ๆ เช่น เขื่อนยันฮี เขื่อนชัยนาท
แต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ถือเอาวันที่ ๑พฤษภาคม เป็นวันแรงงานตามหลักของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งถือเป็นวันกรรมกรสากล ต่อจากนั้นจึงได้มีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือเอาวันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ เป็นปีแรก
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”