การทอผ้าของนาหมื่นศรีฟื้นคืนมาอีกครั้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2514 คุณยายนาง ช่วยรอด คนดั้งเดิมของหมู่บ้านได้รวบรวมคนอายุรุ่นเดียวกันและเคยทอผ้าได้ 3 คน คือคุณยายผอบ ขุนทอง คุณยายอิน เชยชื่นจิตร คุณยายเฉิม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซมกี่กับเครื่องมือเก่าๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมา คุณยายกุศล นิลละออ บุตรสาวของคุณยายนางมาเห็นการทอผ้าก็เกิดความสนใจและได้ฝึกทอจนกระทั่งชำนาญเป็นที่สนใจของเพื่อนบ้านและทางราชการ คุณยายกุศลจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนในรุ่นเดียวกันประมาณ 4 - 5 คนเพื่อช่วยกันรื้อฟื้นการทอผ้า (ทอหูก) สำหรับใช้กันเองในหมู่ญาติพี่น้องและมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่บุคคลที่นับถือในเทศกาลต่างๆ ต่อมาเป็นที่สนใจของลูกหลานและบุคคลที่พบเห็นเป็นอย่างมากจึงมาขอฝึกการทอผ้าบ้าง คุณยายกุศลจึงได้รวบรวมผู้สนใจเป็นสมาชิกเรียกว่า"กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี" เพื่อฝึกอบรมการทอผ้าให้กับสมาชิกที่สนใจโดยให้รุ่นก่อนสอนรุ่นใหม่ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นและใช้เวลาว่างหลังจากการประกอบอาชีพหลักให้เกิดประโยชน์คุณยายกุศลได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆเพื่อของบประมาณมาสนับสนุนกลุ่มในเรื่องวัสดุอุปกรณ์และอาคารโรงทอจึงได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาชุมชนเป็นเบื้องต้น กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และยังขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย
กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ 8 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทรศัพท์ 01 - 4764318 , 075 - 299597
ลายผ้าทอนาหมื่นศรี
ตอนนี้ทางกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีมีลายผ้าอยู่ทั้งหมดประมาณ 30 กว่าลายในแต่ละลายจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะลายของมัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นยืน หรือเส้นพุ่ง ถักทอสายใย ด้วยใจรักของคนทอทุกคน ลายผ้าที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่นลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วประยุกต์ ลายลูกแก้วลูกศร ลายขนมเปียกปูน ลายลูกหวาย ลายจตุรัสลายตาสมุก ลายดอกพิกุล ลายพิกุลแก้ว ลายดอกกระดุมทอง ลายดอกขี้เหล็ก ลายลูกไม้ลายเหลี่ยมลูกไม้ ลายกลีบบัว ลายเม็ดบัว ลายดอกจำปา ลายหมากรุกย่าน ลายราชวัตรลายเกลียวมาลัย ลายแก้วชิงดวง ลายท้ายมังคุด ลายหางกระรอก ลายล่อง ผ้าเช็ดหน้าผ้าตาโสร่งชาย ผ้าพื้น ลายกลีบลำดวนลายตุ๊กตา ลายช่อมะละกอ ลายครุฑลายราชวัตร(โบราณ ) ลายสร้อยไก่ ลายดาวล้อมเดือน ลายหนังสือ ลายรสสุคนธ์ ลายกลีบบัวประยุกต์ลายสตางค์ ลวดลายที่ควรมีการอนุรักษ์ คือ ลายลูกแก้วชิงดวง ซึ่งปัจจุบันมีคนทอน้อยมาก
การเดินทาง
ใช้เส้นทางนาโยงนาหมื่นศรซึ่งเป็นถนนลาดยาง ตลอดระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี
เข้าชม : 1737 |