ประวัติตำบลกันตัง
|
เทศบาลเมืองกันตัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตรัง ซึ่งห่างจากปากน้ำตรังเพียง 27 กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญมาแต่โบราณ และในปี พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากตำบลควนธานี มาตั้งที่ตำบลกันตังโดยขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
เทศบาลเมืองกันตัง เป็นพื้นที่ของตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งยกฐานะเป็น เทศบาล เมื่อปีพุทธศักราช 2480 โดยพระราชกฤษฎีกาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 หน้า 1899 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2480 มีพื้นที่ 1.35 ตารางกิโลเมตร ต่อมาเพื่อความเหมาะสมแก่การบริหารกิจการและการทำนุบำรุงท้องถิ่น เทศบาลได้ขอขยายเขตไปในพื้นที่ของบางส่วนของตำบลใกล้เคียงอีก 1.69 ตารางกิโลเมตร รวมกับพื้นที่เดิมเป็น 3.04 ตารางกิโลเมตร โดยพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลกันตัง จังหวัดตรัง พ.ศ. 2512 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2512 ต่อมาได้รับประกาศให้เปลี่ยนแปลงฐานะตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองกันตัง ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 112 ตอนที่ 40 ก. ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2538 แล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป ปัจจุบันเทศบาลเมืองกันตังมีอายุ 70 ปี
|
แหล่งท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกันตัง |
วัดตรังคภูมิพุทธาวาส
เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของกันตัง เป็นที่น่าสนใจ คือ พระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า
มีลักษณะที่สวยงามเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และมีพุทธชัยมงคลปางประทานพรอยู่ด้านหน้าวัดตรังคภูมิพุทธาวาส |
สถานีรถไฟเมืองกันตัง
ตามประวัติการรถไฟสถานีกันตังเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 ในสมัยเริ่มแรกเป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีรางรถไฟต่อไปถึงท่าเที่ยบเรือ ตัวอาคารเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยาสีเหลืองสลับเทา ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุขยื่นตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ถือว่าเป็นสถานีรถไฟสายแรกและสายเดียวทางฝั่งทะเลอันดามัน ปัจจุบันมีการบูรณะซ่อมแซมแต่ยังคงสภาพเดิมไว้
|
|