รัฐประหาร (ฝรั่งเศส: coup d''état กูเดตา)
เป็นการใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับพลันและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปกติเกิดจากสถาบันของรัฐที่มีอยู่เดิมขนาดเล็กเพื่อโค่นรัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วเปลี่ยนเป็นองค์กรปกครองใหม่ ไม่ว่าเป็นพลเรือนหรือทหาร รัฐประหารพิจารณาว่าสำเร็จแล้วเมื่อผู้ยึดอำนาจสถาปนาภาวะครอบงำ เมื่อรัฐประหารล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงหรือสำเร็จก็ตาม มักเกิดสงครามกลางเมืองตามมา
คำว่า coup d''état มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d''état = on state) โดยในพจนานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐประหารมัก
ไม่ประสบความสำเร็จ[1]
ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ[2] พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาลอย่างรวดเร็วรุนแรงและผิดกฎหมาย[3] พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมายมักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง[4]
โดยสรุป รัฐประหารหมายถึง การเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลโดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)
รัฐประหารในประเทศไทย
คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ มักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิรูป" หรือ "คณะปฏิวัติ" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" (revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงครั้งเดียว จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ. 2475 แต่ความเห็นอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีการใช้กำลังทหาร ในการควบคุมบังคับ เพื่อระงับอำนาจของรัฐบาล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[ต้องการอ้างอิง]
ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ล้วนแต่มาจากฝ่ายทหารบกทั้งสิ้น[ต้องการอ้างอิง] ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว ในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วหลังจากนั้น ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป[ต้องการอ้างอิง]
*********************************************************************************************
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย
**************************************************************************