[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
13 มีนาคม วันช้างไทย

พุธ ที่ 11 เดือน มีนาคม พ.ศ.2563


 

เปิดประวัติ "วันช้างไทย" 13 มีนาคม ในทุกปี

เปิดประวัติ "วันช้างไทย" 13 มีนาคม ในทุกปี
S! Campus

สนับสนุนเนื้อหา

วันช้างไทย

เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงอยู่ของช้างไทย

ที่มาของวันช้างไทย

วันช้างไทยเกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

ความสำคัญของช้างไทย

- ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย
ช้างเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็น รูปช้างเผือก ชาวไทยเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ช้างเผือกจึงได้รับการยกย่องเสมือนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า
- ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย
ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ จารึกไว้ว่าช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้แก่ชาว ไทยหลายยุคหลายสมัย ในสมัยกรุงธนบุรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรวบรวมชายไทยให้เป็น ปึกแผ่นและมั่นคงบนหลังช้างทรงพระที่นั่ง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้ทรงประกาศเอกราชและความเป็นชาติ ของคนไทยบนหลังช้างทรงพระที่นั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเป็นช้างไทยที่ได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยจากความกล้าหาญในสมรภูมิรบ ทำให้ช้างไทยเชือกนี้ได้รับพระราชทานยศให้เป็นถึง "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"
- ช้างใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ

ช้างสร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย (จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทานช้างสำริดให้แก่ทั้ง 2 ประเทศนี้

- ช้างใช้เป็นพาหนะในการคมนาคม
ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ สำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งของ ช้างคือพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปริมาณมากได้อย่างอดทน
- ช้างใช้ในการอุตสาหกรรมทำไม้
การใช้ช้างทำไม้ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่การล้มไม้ การทอนไม้ซุง การขนส่งไม้จนถึงโรงงานหรือตลาดการค้า ในแง่ของการอนุรักษ์ป่าไม้ และระบบการจัดการป่าไม้ในประเทศไทย การใช้ช้างชักลากไม้ นับว่าเหมาะสมมาก เพราะช้างสามารถเดินไปได้โดยไม่ทำลายกล้าไม้ต้นเล็กๆ ไม่ทำให้ดินแน่น ไม่ต้องตัดถนนหนทางให้มากเส้น นอกจากนี้ช้างยังขึ้นเขาได้ดี และมีอายุการใช้งานนานถึง 50 ปี

ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรและ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ความนิยมในการใช้แรงงานจากช้างจึงค่อยๆ ลดลง แต่ช้างก็ยังคงเป็นสัตว์ที่คนไทยทั้งชาติให้ความสำคัญเสมอดังนั้นรัฐบาลไทย จึงได้กำหนดให้ช้างเผือกเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย

ความสำคัญของช้างต่อประวัติศาสตร์ ชาติไทย

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่หนึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น "ช้าง" คือขุนพลที่ร่วมรบอยู่ในสมรภูมิจนมีชัยชนะ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงประทับช้างนำ ราษฎรไปบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในอรัญญิก จะเห็นได้ว่าทั้งในยามศึกและยามสงบช้างอยู่คู่แผ่นดินสุโขทัยเรื่อยมา ช้างมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้ จึงมีการสอนวิชาขับขี่ช้างซึ่งเป็นวิชาสำคัญสำหรับเจ้านายและลูกผู้ดีเพื่อ ยังประโยชน์ในการใช้ช้างเป็นพาหนะและเตรียมการเพื่อศึกสงคราม

- ช้างใช้ในการศึกสงครามในอดีต ในสมัยโบราณ ช้างเป็นยุทธปัจจัยสำคัญของกองทัพเปรียบได้กับรถถังประจัญบานของนักรบใน ปัจจุบัน ทว่าชัยชนะทีง่างามกว่าหลายเท่า เพราะมนุษย์ที่นั่งอยู่บนคอช้างต้องเชี่ยวชาญอาวุธของ้าว ใช้ความกล้าหาญไสช้างแต่ละเชือกพุ่งตรงเข้ารบปะทะกันตัวต่อตัว ช้างต่อช้างเข้าชนกันนั้น หากช้างของผู้ใดมีความสามารถมากกว่าก็จะงัดช้างศัตรูขึ้นด้วยงาจนแหงนหงาย หรือเบนบ่ายจนได้ที เพื่อให้แม่ทัพบนคอช้างส่งอาวุธเข้าจ้วงฟันคู่ต่อสู้ ช้างกับนักรบบนคอช้างจึงต้องมีกำลังแข็งแรงฝีมือเข้มแข็ง ทั้งคู่จึงจะได้ชัยชนะมาประดับเป็นเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน

การรบบนช้างหรือที่เรียกว่า ยุทธหัตถี นั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ไทย แต่ครั้งสำคัญที่สุด ซึ่งคนไทยยังกล่าวขวัญจดจำไม่รู้ลืม คือ การยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2135 หรือกว่า 400 ปีล่วงมาแล้ว

กิจกรรมวันช้างไทย

กิจกรรมวันช้างไทยทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิเช่น การจัดสะโตกช้าง หรือขันโตกช้าง โดยช้างจะรับประทานอาหารของช้างที่ทางปางช้างได้จัดหาไว้ให้เป็นอย่างดี ในวันนี้เด็กนักเรียนจะสามารถข้าชมได้ฟรีเพื่อเป็นการส่งเสริม ให้เด็ก เห็นคุณค่าของช้างไทยและความสำคัญของวันช้างไทย

 

 


เข้าชม : 473


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 / ก.ค. / 2567
      3 มิถุนายน 2567เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 6 / มิ.ย. / 2567
      18 พฤษภาคม 2567 20 / พ.ค. / 2567
      วันจักรี 4 / เม.ย. / 2567
      วันมาฆบูชา 5 / ก.พ. / 2567