จากที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2489 ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้เรียกร้องให้ชาวโลกให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อปวงชน โดยเฉพาะเด็กที่ตกหล่นอยู่นอกโรงเรียน และในที่ประชุม World Conference of Ministers of Education on the Eradication of literacy ณ กรุงเตหะราน เมื่อปี พ.ศ. 2508 ได้มีการเสนอให้ วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าว ให้เป็น "วันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ" (International Literacy Day) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ อันเป็นหลักการของยูเนสโก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2509 เป็นต้นมา
ทางยูเนสโกได้นำเสนอประเด็นว่า การรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คนทั้งหลาย เป็นอิสรภาพจากความไม่รู้ อิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงเพราะคนเหล่านั้น มีความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อรู้หนังสือและมีโอกาสนำไปปฏิบัติแล้ว ก็จะช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเสรี และมีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การรณรงค์ในวันที่ 8 กันยายน จึงเป็นความพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลของทุก ๆ ประเทศ และทุก ๆ คนในสังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาความไม่รู้หนังสือของประชากรในประเทศ
สำหรับประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการรู้หนังสือ โดยกำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็นวันการศึกษานอกโรงเรียน และได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโอกาสที่เป็นวันระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ภาพประกอบ pixabay