เนื่องในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ทางเว็บไซต์ Weddinglist จึงได้รวบรวม ๑๐ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
๑. พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระขนิษฐา กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
๒. การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาลจากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่ประเทศออสเตรเลีย จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วเสด็จนิวัติประเทศไทย
จากนั้น พระองค์ทรงรับราชการทหารและทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๓๓ ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศอังกฤษ
๓. สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยยศในขณะนั้น) ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
๔. พระราชกรณียกิจด้านการทหาร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบ ต่อต้านการก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่อาสา และราษฎรบริเวณพื้นที่อันตรายอยู่เป็นประจำ
๕. ปฏิบัติการ ณ บ้านหมากแข้ง
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร้อยเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมตำรวจ ทหารและราษฎรในพื้นที่ ณ ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยพระองค์ทรงออกบัญชาการรบที่แนวหน้าด้วยพระองค์เอง ทำให้บรรดาทหารและตำรวจมีกำลังใจในการสู้รบขึ้นเป็นอย่างมาก
ขณะที่ร้อยเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปยังแนวหน้า ได้มีการยิงถล่มจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ทำให้เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไม่สามารถลงจอดได้ เหตุการณ์ในวันดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า
พระองค์ทรงกระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ความสูงประมาณ ๑๒ เมตร แล้ววิ่งหลบฝ่ากระสุนที่ปลิวว่อนไปมาอย่างกล้าหาญ จากนั้นพระองค์จึงทรงวิเคราะห์และวางแผนการรบให้กับทหารในพื้นที่ ออกลาดตระเวน อยู่ยามเช่นเดียวกับทหารคนอื่น ๆ
พระองค์ได้ประทับแรมที่ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้งเป็นเวลา ๑ คืนจึงเสด็จฯ กลับ และได้เสด็จฯ มาเยี่ยมเยือนอีกครั้งในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยประกาศยอมแพ้ สงครามสู้รบจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๒๕
๖. พระราชกรณียกิจด้านการบิน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเริ่มฝึกการบินที่โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N เมื่อทรงสำเร็จการฝึกแล้ว พระองค์ทรงขึ้นรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในปีนั้นเอง พระองค์ยังทรงสำเร็จหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบกรวม 2 เดือน
ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พระองค์ทรงติดตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา และทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พระองค์ทรงฝึกศึกษาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ F5 E/F และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่อง F5 D/F จนสำเร็จตามหลักสูตร โดยพระองค์ทรงมีชั่วโมงบินทุกประเภทรวมทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐ ชั่วโมง
นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังได้ทรงศึกษาการฝึกบินแบบใหม่เพิ่มเติมสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อยุคโลกาภิวัฒน์ โดยทรงเข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินใบพัดแบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย ณ โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และทรงฝึกบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบ T37 และ T33 และจบหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่แบบ F5 E/F ของกองบิน ๑ ฝูงบิน ๑๐๒ รวมชั่วโมงบินกว่า ๒๐๐ ชั่วโมง
พระองค์ทรงฝึกบินเพิ่มเติมในประเทศไทยจนกระทั่งทรงพร้อมรบและครบ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ อีกทั้งยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี โดยทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศจึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ ๑ ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องที่สูงมาก ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ
๗. นักบินที่ ๑ แห่งการบินไทย
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการในฐานะนักบินโบอิ้ง 737–400 จากการบินไทย และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และในปีถัดมา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน และทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งนักบินที่ 1 จากการบินไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบินกว่า ๓,๐๐๐ ชั่วโมง
๘. ทรงรับอุปการะเด็กกำพร้าและพระราชทานทุนการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงอุปการะเด็กกำพร้าไว้ในพระราชูปถัมภ์ เช่น จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่สูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ภูเขาถล่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งสูญเสียพ่อจากการถูกลอบสังหารในเหตุการณ์ความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทรงอุปการะจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีหรือจนกว่าจะมีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้
๙. พระราชสันตติวงศ์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๓ พระองค์ ตามเอกสารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระราชธิดา ๒ พระองค์ดังนี้
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยบดี
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ราชกัญญา
และทรงมีพระราชโอรส ๑ พระองค์ดังนี้
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ
๑๐. ทรงขึ้นครองราชย์
ตามโบราณราชประเพณีโดยไม่ขัดต่อกฎหมายถือว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อให้สอดคล้องกับคตินิยมในนานาประเทศที่ว่า ประเทศย่อมไม่อาจไร้ประมุขฉันใด พระราชบัลลังก์ย่อมไม่อาจว่างเว้นพระมหากษัตริย์ฉันนั้น ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (อ่านว่า สม-เด็ด-พฺระ-จ้าว-หฺยู่-หัว-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน บอ-ดิน-ทฺระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน) โดยที่ยังไม่ได้มีการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ
๑๑. ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พระองค์ได้ทรงเฉลิม
พระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และมีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า
เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป
— พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว