9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
วันอานันทมหิดล เป็นวันที่มีความสำคัญ กล่าวคือเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงดำริที่จะจัดงาน วันอานันทมหิดลขึ้นเป็นประจำทุกปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งได้สร้างคุณูปการด่อวงการแพทย์และการศึกษา เพื่อเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเฉลิมพระเกียรติล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 ให้พสกนิกรได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์สืบไป
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชสมภพเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมัน ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพระชนมายุ 3 พรรษา ได้เสด็จกลับประเทศไทย พร้อมด้วยพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี โดยเสด็จประทับ ณ วังสระปทุม ในปีต่อมาได้ทรงศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย แล้วจึงเสด็จไปประทับต่อ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้น มีมติเห็นชอบให้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล" เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และ เจ้าพระยายมราช ทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลักจากขึ้นครองราชย์ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ที่ทรงเสด็จประทับอยู่ในเมืองไทย ได้ทรงออกเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ จากนั้น พระองค์ทรงเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การคมนาคมติดต่อเป็นไปโดยลำบาก พระองค์ท่านจึงไม่ทรงมีโอกาสติดต่อกับประเทศไทย เมื่อสงครามสงบ พระองค์จึงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488 ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ในการเสด็จนิวัตเมืองไทยครั้งนี้ เดิมทรงตั้งพระราชหฤทัยจะประทับอยู่ในเมืองไทยเพียง 1 เดือน จากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนใหม่ ในกลางเดือนมกราคม แต่เนื่องจาก ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ในฐานะประมุขของประเทศ ทำให้ทรงเลื่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ออกไป
ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็น เวลา 12 ปีเท่านั้น
ปวงชนชาวไทยต่างรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการจึงร่วมใจน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันอานันทมหิดล" ในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬา ฯ ทุกรุ่น จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นไว้ หน้าตึกอานันทมหิดลคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล" ขึ้น เพื่อสนับสนุนนักเรียนไทย ผู้มีความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการ จนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ พัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าต่อไป โดยมูลนิธินี้ไม่มีการสอบคัดเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะสรรหา ผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาด
กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในวันอานันทมหิดล
1.พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรซึ่งประดิษฐานหน้าอาคาร "อานันทมหิดล" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ของ คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล นิสิตแพทย์และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ อาคารวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
4.การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล เพื่อออกรับบริจาคโดยนิสิตแพทย์ รายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
5.การจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องในวันอานันทมหิดล ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
6.การจัดงานเสวนาเนื่องสัปดาห์วันอานันทมหิดล
7.กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
แหล่งอ้างอิง: http://www.thaigoodview.com/node/17018
http://th.wikipedia.org/