วันประชากรโลก (World Population Day)

          จากจำนวนสถิติของประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ภายในศตวรรษหน้าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกราว ๑ พันล้าน (ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรประมาณ ๕.๕ พันล้าน) และกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนที่เพิ่มขึ้น จะแออัดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา   

          องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๑ กรกฎาคม เป็น วันประชากรโลก โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรของโลกเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Population Activities)  หรือชื่อย่อว่า UNFPA ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก กองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.๒๕๑๒ โดยได้รับงบประมาณจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ แคนาดาสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรเลีย        

กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาชาติ

          วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนฯ ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือทุกประเทศในโลก ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับการวางแผนประชากรและการวางแผนครอบครัว สร้างความตื่นตัวในเรื่องปัญหาประชากรและการหาวิธีแก้ไขโดยมีแนวคิดว่า 

          ๑. การดูแลควบคุมอัตราการเพิ่มประชากร จะมีผลในการเฉลี่ยแบ่งปันอาหาร น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การศึกษา การจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสได้ดีกว่าการปล่อยให้ประชากรเพิ่มสูงขึ้น  
          ๒.การจำกัดหรือควบคุมอัตราการเพิ่มของประชากรให้สมดุลกับการพัฒนาของประเทศ จะช่วยลดความรุนแรงเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          ๓. การชะลอความแออัดในเมือง เพื่อไม่ให้ประชากรล้นเมืองเร็วเกินไป จะมีผลดีกว่าในแง่ของการพัฒนาทั้งในเขตเมืองและชนบท 
          ๔. การให้การศึกษาแก่เด็กหญิงและสตรีอย่างทั่วถึง จะช่วยให้เด็กหญิงและสตรีรู้วิธีดูแลสุขภาพของตนเอง และสมาชิกครอบครัวดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้การวางแผนครอบครัวดีขึ้น 
          ๕. การมีครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง จะช่วยให้การจัดการศึกษา การดูแลให้บริการด้านสุขอนามัย การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
          ๖. การวางแผนครอบครัว ควรมีความหมายครอบคลุมถึงถึงการมีสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว นอกเหนือจากความหมายด้านคุมกำเนิดเพียงด้านเดียว

          เป้าหมายของกองทุนฯ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นวิธีการใดๆ ก็ตามที่สอดคล้องกับแนวคิดต่างๆ ข้างต้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทุกประเทศรณรงค์ส่งเสริมสถานภาพของสตรีในทุกๆด้าน เพราะสตรีเป็นกุญแจสำคัญในการลดอัตราการเพิ่มของประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในประเทศที่กำลังพัฒนา จะพบว่าอัตราการไม่รู้หนังสือของสตรีมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมากกับการมีลูกมาก เพราะทำให้ผู้หญิงขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่มีทางเป็นไปได้หากประชากรครึ่งหนึ่งของโลกที่เป็น ผู้หญิงไม่ได้รับการดูแลให้การศึกษาเท่ากับผู้ชายในทุกๆ ด้าน เพราะการศึกษาจะช่วยให้ผู้หญิงได้ดูแลตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพของสังคม

          ในวันประชากรโลก หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดกลุ่มศึกษา จัดประชุมสัมนา ประกวดบทความ เรียงความ หรือจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องประชากร เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการควบคุมดูแลอัตราการเพิ่มประชากรโลกให้น้อยลง

ข้อมูลจาก  www.lib.ru.ac.th