วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 31 มีนาคม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 รวมพระชนมายุ 63 พรรษา 11 วัน เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ 25 ปี 7 เดือน 23 วัน
ประวัติวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” หรือ “วันเจษฎา” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านการปกครอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน เพื่อความเป็นระเบียบมากขึ้น และทรงให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตีประเทศไทย นอกจากนี้ทรงให้มีการสักและการลงทะเบียนสำรวจจำนวนพลเมือง เพื่อเป็นกำลังรับใช้ชาติและที่ต้องเสียภาษีให้แก่ทางราชการ การปราบปรามโจรผู้ร้าย ปราบจีนตั้วเหี่ย และปราบปรามการค้าฝิ่น
ด้านการต่างประเทศ มีการทำสัญญาพระราชไมตรีกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้อังกฤษส่งเรือกำปั่นเข้ามาค้าขายกับไทยมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้มีการทำสัญญาพระราชไมตรีกับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับอังกฤษ และมีการทำสัญญาว่าด้วยความเสมอภาคที่ชาวอเมริกันจะเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย
ด้านเศรษฐกิจและการค้า พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งระบบการเก็บภาษี โดยให้เอกชนผู้ได้รับการประมูลไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง จึงเรียกผู้เก็บภาษีอากรนี้ว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร แล้วพระองค์จึงนำรายได้เหล่านี้มาทำนุบำรุงบ้านเมืองในทุกด้าน และมีเงินจำนวนหนึ่งที่เหลือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เรียกว่า เงินถุงแดง
ด้านการศึกษา พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของทุกชนชั้น เห็นได้จากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชนต่างชาติเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ทำให้คณะบาทหลวงและมิชชันนารี (หมอสอนศาสนา) ได้เข้ามาทำการสอนด้วย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสร้างโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วนสตรีก็ให้มีการเรียนการสอนในวัง ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี ในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดีก็เช่นกัน พระองค์ทรงทำนุบำรุงและฟื้นฟูศิลปะในแขนงต่างๆ
ด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ถือเป็นยุคแห่งการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามครั้งใหญ่ รวมไปถึงพระบรมมหาราชวังก็ได้รับการบูรณะและก่อสร้างอย่างขนานใหญ่เช่นเดียว กัน ซึ่งสถาปัตยกรรมโดยส่วนใหญ่มีอิทธิพลของจีนเข้ามามาก เนื่องจากทรงค้าขายกับชาวจีนประกอบกับทรงมีพระราชหฤทัยนิยมศิลปะจีนอยู่มาก
ด้านประติมากรรม ที่โดดเด่นมาก ได้แก่ การสร้างรูปยักษ์ใหญ่ยืนถือกระบองที่มีความงดงาม เช่น ที่วัดพระแก้วและวัดอรุณฯ และการสลักตัวตุ๊กตาหินประดับไว้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านี้จะปรากฏอยู่ทั่วไปตามพระอารามต่างๆ ที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดพระแก้ว และในพระบรมมหาราชวัง
ด้านวรรณคดี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน เช่น โคลงปราบดาภิเษก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ส่วนวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ก็มีกวีหลายท่านช่วยกันแต่งขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษามคธ (บาลี) เช่น ปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐิน เป็นต้น
ด้านการบำรุงพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตามพระราชประเพณี ทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าในบวรพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เป็นนิจ อีกทั้งพระองค์ยังส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้มีพระบรมราชานุญาตให้ คณะบาทหลวงและมิชชันนารี เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย ส่วนทางพระพุทธศาสนา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปพระพุทธศาสนาขึ้น โดยให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะทรงผนวชอยู่ ได้จัดตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จนทำให้พระสงฆ์เคร่งครัดในพระธรรมวินัยกันมากขึ้น
และด้วยเหตุนี้เอง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ มีต่อปวงชนชาวไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๔๑ เห็นชอบให้ถวายพระราชสมัญญามหาราชในพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ ๓๑ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ คือ วันที่ระลึกมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประกาศให้ข้าราชการและประชาชนประกอบพิธีถวายราชสักการะ โดยมิต้องถือเป็นวันหยุดราชการ
กิจกรรม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของพระองค์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ (ศาลาเฉลิมไทยเดิม)
ที่มา : m-culture, วิกิพีเดีย
แสดงความคิดเห็น