ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล
อาทิตย์ ที่ 4 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2557
|
|
5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก aco.psru.ac.th
วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ควรระลึกถึง วันนี้กระปุกจึงมีเรื่องราวความสำคัญของวันฉัตรมงคลมาฝากค่ะ
ความหมายของวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก
ความสำคัญของวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"เนื่องจากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย
ดังนั้นรัฐบาลไทยและ พสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้
ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การจัดพระราชพิธีบรม ราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฎในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น
ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล
ก่อนหน้ารัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง
จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ
วันแรก ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม เป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบรมราชบุพการี เป็นพิธีสงฆ์สดัปกรณ์ พระบรมอัฐิ สมเด็จสวดพระพุทธมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย
วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาเที่ยง ทหารบก ทหารเรือ จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด
ส่วนวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์ ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้ที่มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี
ทั้งนี้ในวันฉัตรมงคล สำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคมอีกด้วย
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน
เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 5 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จึงควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุด มิได้
เข้าชม : 753
|
|
ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด
วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 / ก.ค. / 2567
3 มิถุนายน 2567เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 6 / มิ.ย. / 2567
18 พฤษภาคม 2567 20 / พ.ค. / 2567
วันจักรี 4 / เม.ย. / 2567
วันมาฆบูชา 5 / ก.พ. / 2567
|