[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุธ ที่ 26 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2566


 พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ในหลวง รัชกาลที่ 10 เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชประวัติ ในหลวง รัชกาลที่ 10

พระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และมีพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ครั้งพระชนมายุได้ 1 พรรษา พระบรมชนกนาถ ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งพระนามและถวายตามดวงพระชะตา พระนาม ‘วชิราลงกรณ’ นั้น กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งจาก “วชิระ” อันเป็นพระนามฉายาในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’ จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า ‘ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต’

พระราชประวัติ ในหลวง รัชกาลที่ 10

การศึกษา

พ.ศ. 2499 – 2509 ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่โรงเรียนจิตรลดาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ขณะนั้นโรงเรียนยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ก่อนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

พ.ศ. 2509 – 2513 ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ ประเทศอังกฤษ ในเดือนมกราคม จากนั้นทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีต แคว้นซัมเมอร์เซต ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513

พ.ศ. 2513 – 2514ทรงศึกษาวิชาทหารต่อในประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์สกูล นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514

พ.ศ. 2515 – 2519 ทรงเข้าศึกษาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา การศึกษาที่ดันทรูนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหารโดยกองทัพบกออสเตรเลีย และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรีโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2519 ทรงได้รับถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์

พ.ศ. 2520 – เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46

พ.ศ. 2525 – ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. 2533  – ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร

พระราชประวัติ ในหลวง รัชกาลที่ 10

สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น ‘สยามมกุฏราชกุมาร’ โดยมีพระราชพิธีสถาปนา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’

ทรงครองราชย์และเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 พระองค์จะได้สืบราชสมบัติต่อทันทีเมื่อ ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แต่ทรงขอผ่อนผัน เนื่องจากทรงต้องการร่วมไว้ทุกข์กับชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่งก่อน โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมวาระพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรับทราบการอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เดินทางไปอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และพระองค์ทรงรับการอัญเชิญโดยมีพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงให้เฉลิมพระปรมาภิไธยชั่วคราวว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร’

พระราชประวัติ ในหลวง รัชกาลที่ 10

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีฯ โดยมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในวันที่ 26 มกราคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมและดำรงตำแหน่งองค์ประธานที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน พระราชพิธีเบื้องต้น, พระราชพิธีเบื้องกลางและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเฉลิมพระบรมราชอิสริยยศ โดยมีพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลากหลายด้าน อาทิ

  • ด้านทหาร
    • พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งทางทหารหลายตำแหน่ง และเคยเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ อันเป็นส่วนราชการในพระองค์
  • ด้านการศึกษา
    • ทรงให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยทรงให้นำโครงการทุนการศึกษามาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. เพื่อสนับสนุนผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเป็นทุนให้เปล่า และเมื่อจบการศึกษา จะได้รับโอกาสให้สมัครเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ
  • ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
    • พระองค์โดยเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทเสมอ จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลอันทั่วถึงและมีมาตรฐาน เป็นที่มาของการตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้นใน พ.ศ. 2520 นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ และเงินที่ประชาชนบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อสนับสนุนการสร้างอาคารในโรงพยาบาล และซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงในวิกฤติโควิด – 19 พระองค์พระราชทานเงินจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด รวมถึง ‘โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ’ ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยชาติ
  • ด้านศาสนา
    • พระองค์เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ อย่างเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2565 ทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทางบันไดจำนวน 688 ขั้น เพื่อทรงห่มผ้าองค์พระเจดีย์บรมบรรพต และสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และยังทรงประกอบพิธีทางศาสนา อาทิ ทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานพระวิหาร ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’ ณ วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย ‘เจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต’ และทรงประกอบพิธีสมโภช ‘พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย’  ณ  วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น

พระราชสันตติวงศ์

  • สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน
  • ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี พ.ศ. 2544 – 2557
    • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
  • สุจาริณี วิวัชรวงศ์ (พ.ศ. 2522 – 2539)
    • จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ้วน  สมรสกับริยา กอห์ฟ (Riya Gough)
    • วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ้น
    • จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ่อง
    • วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอิน
    • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พ.ศ. 2520 – 2534
    • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา


เข้าชม : 131


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      วันจักรี 4 / เม.ย. / 2567
      วันมาฆบูชา 5 / ก.พ. / 2567
      วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 9 / ม.ค. / 2567
      วันรัฐธรรมนูญ 6 / ธ.ค. / 2566
      วันลอยกระทง 2566 2 / พ.ย. / 2566