พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ในหลวง รัชกาลที่ 10 เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และมีพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ครั้งพระชนมายุได้ 1 พรรษา พระบรมชนกนาถ ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งพระนามและถวายตามดวงพระชะตา พระนาม ‘วชิราลงกรณ’ นั้น กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งจาก “วชิระ” อันเป็นพระนามฉายาในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’ จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า ‘ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต’
การศึกษา
พ.ศ. 2499 – 2509 ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่โรงเรียนจิตรลดาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ขณะนั้นโรงเรียนยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ก่อนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
พ.ศ. 2509 – 2513 ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ ประเทศอังกฤษ ในเดือนมกราคม จากนั้นทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีต แคว้นซัมเมอร์เซต ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513
พ.ศ. 2513 – 2514ทรงศึกษาวิชาทหารต่อในประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์สกูล นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514
พ.ศ. 2515 – 2519 ทรงเข้าศึกษาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา การศึกษาที่ดันทรูนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหารโดยกองทัพบกออสเตรเลีย และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรีโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2519 ทรงได้รับถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
พ.ศ. 2520 – เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46
พ.ศ. 2525 – ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. 2533 – ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร
สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น ‘สยามมกุฏราชกุมาร’ โดยมีพระราชพิธีสถาปนา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’
ทรงครองราชย์และเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 พระองค์จะได้สืบราชสมบัติต่อทันทีเมื่อ ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แต่ทรงขอผ่อนผัน เนื่องจากทรงต้องการร่วมไว้ทุกข์กับชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่งก่อน โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมวาระพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรับทราบการอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เดินทางไปอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และพระองค์ทรงรับการอัญเชิญโดยมีพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงให้เฉลิมพระปรมาภิไธยชั่วคราวว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร’
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีฯ โดยมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในวันที่ 26 มกราคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมและดำรงตำแหน่งองค์ประธานที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน พระราชพิธีเบื้องต้น, พระราชพิธีเบื้องกลางและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเฉลิมพระบรมราชอิสริยยศ โดยมีพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’
พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลากหลายด้าน อาทิ
- ด้านทหาร
- พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งทางทหารหลายตำแหน่ง และเคยเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ อันเป็นส่วนราชการในพระองค์
- ด้านการศึกษา
- ทรงให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยทรงให้นำโครงการทุนการศึกษามาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. เพื่อสนับสนุนผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเป็นทุนให้เปล่า และเมื่อจบการศึกษา จะได้รับโอกาสให้สมัครเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ
- ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- พระองค์โดยเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทเสมอ จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลอันทั่วถึงและมีมาตรฐาน เป็นที่มาของการตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้นใน พ.ศ. 2520 นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ และเงินที่ประชาชนบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อสนับสนุนการสร้างอาคารในโรงพยาบาล และซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงในวิกฤติโควิด – 19 พระองค์พระราชทานเงินจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด รวมถึง ‘โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ’ ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยชาติ
- ด้านศาสนา
- พระองค์เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ อย่างเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2565 ทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทางบันไดจำนวน 688 ขั้น เพื่อทรงห่มผ้าองค์พระเจดีย์บรมบรรพต และสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และยังทรงประกอบพิธีทางศาสนา อาทิ ทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานพระวิหาร ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’ ณ วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย ‘เจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต’ และทรงประกอบพิธีสมโภช ‘พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย’ ณ วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น
พระราชสันตติวงศ์
- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน
- ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี พ.ศ. 2544 – 2557
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
- สุจาริณี วิวัชรวงศ์ (พ.ศ. 2522 – 2539)
- จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ้วน สมรสกับริยา กอห์ฟ (Riya Gough)
- วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ้น
- จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอ่อง
- วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ หรือ ท่านชายอิน
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พ.ศ. 2520 – 2534
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
เข้าชม : 233
|