วันมหิดล 24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน
และในปี พ.ศ. 2493 หรือ 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้สวรรคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที และเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาล เป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นหลังได้เจริญตามรอยพระยุคลบาทสืบไป โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงาน
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดงาน "วันมหิดล" โดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เป็นประจำทุกปี
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันมหิดล
1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
2. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ในการนี้รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ และได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535
พระประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 รวมพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน
ในเบื้องต้นได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรังไม่ทรงสามารถรับราชการหนักเช่นการทหารเรือได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงพระอุตสาหะ เสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษา พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้มากมาย อาทิ
1. ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์
2. ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช
3. ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ และจัดสร้างตึกคนไข้ และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาลให้ได้อยู่อาศัย
4. ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนสำหรับส่งนักศึกษาแพทย์ และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ
5. ประทานเงินเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือ สำหรับปฏิบัติการให้แก่โรงพยาบาล
6. ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สาขาเอเชียบูรพา ในการปรับปรุงและวางมาตรฐานการศึกษา
7. ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง
ธงวันมหิดล
การจัดกิจกรรมในวันมหิดล
หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น อาทิ
1. กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา คณะนักศึกษาแพทย์และพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมออกรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ เนื่องในวันมหิดล ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี
โดยกิจกรรมหนึ่งในการขอรับบริจาค คือ การจำหน่าย "ธงวันมหิดล" กิจกรรมดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ศ. นพ.กษาน จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจำหน่าย "ธงวันมหิดล" เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช
ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลางราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาล และเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้
โดยในครั้งแรกแบบธงวันมหิดลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรูปพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก พิมพ์อยู่ตรงกลางผืนเช่นเดียวกับในปัจจุบัน แต่พิมพ์เป็นรูปสีเขียวบนผ้าขาว ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้ผ้าสีที่ตรงกับวันมหิดลในปีนั้น และทำสติ๊กเกอร์ขึ้นแทนธงริบบิ้น ต่อมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ก่อตั้งศิริราชมูลนิธิขึ้นเพื่อบริหารจัดการด้านการเงินให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น คณะจึงมอบให้ศิริราชมูลนิธิ รับผิดชอบการจำหน่ายธงวันมหิดล
ใน พ.ศ. 2502 การจำหน่ายธงได้ผลดีเกินคาด ธงไม่พอสำหรับวันขายใหญ่ "กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากทุกคณะ และทุกวิทยาเขต จึงอาสาทำธงให้ โดยระดมทำอยู่ 2 วัน 2 คืน จนมีธงพอจำหน่ายในวันที่ 23 กันยายน ในปีนั้น
ปีต่อมาคณะกรรมการจำหน่ายธงวันมหิดล จึงมีมติให้จ้างกลุ่มอาสาทำธงแทนจ้างบริษัทเอกชน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษาทำได้ดีเทียบเท่ามืออาชีพ และยังเป็นการสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษา นอกจากนี้ผลกำไรทางกลุ่มอาสายังนำไปสร้างโรงเรียนในชนบททุกปี เรียกว่าได้บุญ 1 ต่อ
สำหรับสีของธงในแต่ละปีจะตรงกับวันมหิดลในปีนั้น ๆ เช่น หากปีไหนวันมหิดลตรงกับวันพุธ ธงจะเป็นสีเขียว และเมื่อบริจาคเงินสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ จะมีสติ๊กเกอร์วันมหิดล มอบเป็นของที่ระลึก
2. การจัดนิทรรศการ เช่น พระประวัติ และผลงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
3. การจัดสัมมนาทางวิชาการ เช่น การแพทย์ใหม่ในประเทศไทย
4. การอภิปรายตามแนวพระดำริ เกี่ยวกับการแพทย์ไทย
5. การประกวด หรือการแข่งขันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกวดโรงพยาบาลดีเด่น
6. อื่น ๆ เช่น การมอบรางวัลให้กับแพทย์ พยาบาล ดีเด่น และผู้เสียสละเพื่อชาวชนบท เพื่อสังคม
ภาพจาก rid.go.th, mahidol.ac.th
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- egat.com
- วิกิพีเดีย
เข้าชม : 408
|