วันสุนทรภู่ ความเป็นมา ชีวประวัติสุนทรภู่

วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก

ความเป็นมาวันสุนทรภู่

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ โดยสรุป คือ

  1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทาง ด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
  2. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

ในการนี้ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่

ชีวประวัติสุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙) แรกเกิด - อายุ ๒๐ ปี

พระสุนทรโวหาร (ภู่) มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) และแม่ช้อย เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย สุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดา คงเป็นนางนมพระธิดา ในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าจงกล หรือเจ้าครอกทองอยู่) ได้แต่งงานมีสามีใหม่ และมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คน เป็นหญิง ชื่อฉิมและนิ่ม ตัวสุนทรภู่เองได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก

สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวาและเพลงยาว เมื่อรุ่นหนุ่มเกิดรักใคร่ชอบพอกับนางข้าหลวงในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึงกรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณ ที่จะมีการปล่อยนักโทษเพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่ พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ชั้นสูงเมื่อเสด็จสวรรคต หรือทิวงคตแล้ว แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่และจันก็ยังมิอาจสมหวังในรัก สุนทรภู่ถูกใช้ไปชลบุรี ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า

"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา"

แต่เจ้านายท่านใดใช้ไป และไปธุระเรื่องใดไม่ปรากฎ อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ได้เดินทางเลยไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เพื่อไปพบบิดาที่จากกันกว่า ๒๐ ปี สุนทรภู่เกิดล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต กว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ก็ล่วงถึงเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๙

ประวัติสุนทรภู่วัยฉกรรจ์ (พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙) อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี

หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ในช่วงนี้สุนทรภู่ก็สมหวังในรักได้แม่จันเป็นภรรยา

สุนทรภู่คงเป็นคนเจ้าชู้ แต่งงานได้ไม่นานก็เกิดระหองระแหงกับแม่จันยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้า ปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในวันมาฆบูชา สุนทรภู่ได้แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๓ ปี พ.ศ.๒๓๕๐

สุนทรภู่มีบุตรกับแม่จัน ๑ คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอก ทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ชีวิตของท่านสุนทรภู่ช่วงนี้คงโศกเศร้ามิใช่น้อย

ประวัติชีวิตของสุนทรภู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙ ก่อนเข้ารับราชการไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อว่าท่านหนีความเศร้าออกไปเพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง ดังความตอนหนึ่งในนิราศ เมืองเพชร ที่ท่านย้อนรำลึกความหลัง สมัยหนุ่ม ว่า

"ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนา ท่านการุญ"

ประวัติสุนทรภู่รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗) อายุ ๓๐ - ๓๘ ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของ พระองค์ ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

มูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ น่าจะเนื่องมาจากเรื่องละครนี้เอง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีทอดบัตรสนเท่ห์ เพราะจากกรณี บัตรสนเท่ห์นั้น คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกประหารชีวิตถึง ๑๐ คน แม้แต่ นายแหโขลน คนซื้อกระดาษดินสอ ก็ยังถูกประหารชีวิตด้วย มีหรือสุนทรภู่จะรอดชีวิตมาได้ นอกจากนี้ สุนทรภู่เป็นแต่เพียงไพร่ มีชีวิตอยู่นอกวังหลวง ช่วงอายุก่อนหน้านี้ก็วนเวียน และเวียนใจอยู่กับเรื่องความรัก ที่ไหนจะมีเวลามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

(กรณีวิเคราะห์นี้ มิได้รับรองโดยนักประวัติศาสตร์ เป็นความเห็นของคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เขียนไว้ในหนังสือ "เที่ยวไปกับสุนทรภู่" ซึ่งเห็นว่ามูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้า รับราชการ น่าจะมาจากเรื่องละครมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งข้าพเจ้า พิเคราะห์ดูก็เห็นน่าจะจริง ผิดถูกเช่นไรโปรดใช้วิจารณญาณ)

อีกคราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

"รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน 
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน 
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน 
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก 
จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งต่อว่า

"นทีตีฟองนองระลอก กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น 
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน 
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"

กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ 
แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

สุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่ออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕) อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิต ได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษา ในราชสำนักก็หมดวาสนาไปด้วย

"ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มา จนตลอดรัชกาลที่ ๒ ... "

จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ประกอบกับ ความอาลัยเสียใจหนักหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนอง พระมหากรุณาธิคุณ สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่ง ของนิราศภูเขาทอง ว่า

"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"

เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นเมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ

ชีพจรลงเท้าสุนทรภู่อีกครั้ง เมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะ ไปค้นหา ทำให้เกิด นิราศวัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณ ปี พ.ศ.๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราว ในชีวิตของท่านอีก เป็นอันมาก จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย

รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี

เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรง พระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตา อุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่อง สิงหไตรภพถวายกรมหมื่น อัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง

แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่องคือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ ได้ ๖๕ ปีแล้ว ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙ ปี

เกร็ดความรู้ประวัติของสุนทรภู่

ในเรื่องประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่นี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่าท่านได้ศึกษาและค้นคว้าชีวิตและงานของสุนทรภู่มาเป็นเวลานานถึง ๓๘ ปี(พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๓๓) และได้พิมพ์หนังสือเรื่อง "ชีวประวัติของพระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์)" เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๓ เป็นวิทยานิพนธ์โดยพิสดารเผยแพร่ประวัติของท่านสุนทรภู่ที่เพิ่งพบใหม่หลายประการ ซึ่งหากใครสนใจในรายละเอียดก็ไปค้นอ่านได้ แต่ในที่นี้จะขอนำมาบอกกล่าวเป็นบางเรื่องคือ

  1. ตำแหน่งของสุนทรภู่ เป็น หลวงสุนทรโวหาร มิใช่ ขุนสุนทรโวหารตามที่เคยว่ากัน เพราะในทำเนียบนามบรรดาศักดิ์ไม่มีตำแหน่ง ขุน มีแต่ หลวง
  2. บิดาสุนทรภู่ชื่อ ขุนศรีสังหาญ(พลับ) ตำแหน่งปลัดกรมขวาศักดินา ๓๐๐ไร่
  3. จากการค้นคว้าได้พบว่า บทกวีเดิมที่มิใช่สุนทรภู่แต่งมี ๕ เรื่อง แต่เป็นผลงานของศิษย์ของท่าน คือ สุภาษิตสอนหญิง เป็นของนายภู่ จุลละภมร นิราศพระแท่นดงรัง เป็นของเสมียนมี มีระเสน นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์ (ลูกชายสุนทรภู่) นิราศอิเหนา ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ และบทละครเรื่องพระอภัยนุราช เป็นของพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) นอกจากนี้นายเทพ ยังพบผลงานใหม่ของท่านสุนทรภู่อีก ๕ เรื่องคือ เพลงยาวรำพรรณพิลาป(แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นเพลงยาวสังวาสที่ยาวที่สุดในโลก-เพลงยาวสังวาสคือเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกัน) เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล(ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี(เป็นตำราบอกลักษณะนารีถึงคุณลักษณะ และวาสนานารีสำหรับชายหนุ่มเลือกคู่) ที่กล่าวว่าสุภาษิตสอนหญิงมิใช่สุนทรภู่แต่ง แต่เป็นของนายภู่ จุลละภมร ศิษย์สุนทรภู่นั้น นายเทพให้ข้อสังเกตว่าเพราะชื่อภู่เหมือนกัน แต่เรื่องที่นายภู่แต่งจะมีบทไหว้ครูทุกเรื่อง ผิดกับท่านสุนทรภู่ที่แต่งกลอนจะไม่เคยมีบทไหว้ครูเลย
  4. เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่กลัวภัยที่เคยได้ล่วงเกินพระองค์มาก่อน จึงได้หนีไปบวชที่วัดอรุณฯ ในนามหลวงสุนทรโวหารนอกราชการ ไม่เคยถูกถอดยศหรือปลดตำแหน่งใดเลย และตลอดระยะเวลาที่บวชอยู่ ๒๗ พรรษา รัชกาลที่ ๓ ก็ไม่เคยแตะต้องข้องแวะกับสุนทรภู่ นอกจากนี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ยังให้ความอุปการะแก่สุนทรภู่ด้วยซ้ำ ซึ่งหากพระองค์ถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่ ดังที่หลายคนอ่านบทกลอนของสุนทรภู่แล้วเข้าใจผิด ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน สุนทรภู่คงจะไม่พ้นพระราชอาญาแล้ว แต่พระองค์ทรงพระคุณธรรมประเสริฐยิ่ง จึงไม่เคยลงโทษสุนทรภู่แต่อย่างใดเลย

บทกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่

บทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ ทั้งหมดเท่าที่พบ มีอยู่ ๒๕ เรื่อง เป็นนิราศ ๙ เรื่อง นิยายประโลมโลก ๕ เรื่อง บทเสภา ๒ เรื่อง สุภาษิต ๓ เรื่อง บทละคร ๑ เรื่อง บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง และบทรำพันอีก ๑ เรื่อง นิราศ ๙ เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง (ฉบับสามเณรกลั่น) นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร นิยายประโลมโลก ๕ เรื่อง คือ โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ บทเสภา ๒ เรื่อง คือ ขุนช้างงขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม) และพระราชพงศาวดาร สุภาษิต ๓ เรื่อง คือ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง บทละคร ๑ เรื่อง คือ อภัยนุราช บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง คือ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตร และบทรำพัน ๑ เรื่อง คือเรื่องรำพันพิลาป 

ในประวัติสุนทรภู่ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ปรากฏว่าบทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ทั้งหมดเท่าที่พบมีอยู่ ๒๔ เรื่อง ขาดไป ๑ เรื่อง คือรำพันพิลาป ซึ่งค้นพบภายหลัง และเรื่องนิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งนายมี หมื่นพรหมสมพัตรสรเป็นผู้แต่ง ไม่ใช่นิราศพระแท่นดงรังฉบับสามเณรกลั่น ซึ่งท่านสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง ในปี ๒๕๐๔ กรมศิลปากรได้พิมพ์นิราศพระแท่นดงรังของนายมีฉบับชำระใหม่โดยอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ซึ่งได้อ้างข้อมูลต่างๆ เป็นหลักฐานแสดงนายมีเป็นผู้แต่งแน่นอนไม่ใช่ท่านสุนทรภู่

 แต่ที่ผู้เขียนได้เอานิราศพระแท่นดงรังฉบับสามเณรกลั่นมาเป็นบทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่แทนนิราศพระแท่นดงรังของนายมีก็เพราะในงานวันสุนทรภู่ พ.ศ. ๒๕๓๗ สถาบันสุนทรภู่ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "ใครเป็นผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรังฉบับสามเณรกลั่น” และได้ข้อสรุปว่าผู้แต่งน่าจะเป็นท่านสุนทรภู่ ไม่ใช่สามเณรกลั่นเช่นเดียวกับนิราศวัดเจ้าฟ้าที่ระบุว่าเณรหนูพัดเป็นผู้แต่ง แต่เป็นความจริงที่รับกันภายหลังว่าท่านสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง ถ้าหากว่าสามเณรกลั่นเป็นผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรังจริงแล้ว ก็หมายความว่าสามเณรกลั่นซึ่งมีอายุแค่เด็กวัยรุ่นแต่งนิราศได้ดีเท่ากับท่านสุนทรภู่ และดีกว่านายมีซึ่งเป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านสุนทรภู่ ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้ อันที่จริงในตอนท้ายของนิราศพระแท่นดงรัง ท่านสุนทรภู่ก็เผยความในใจในเรื่องรักของผู้ใหญ่อย่างท่านไม่ใช่ของเด็กอย่างสามเณรกลั่น ทำนองเดียวกับที่ท่านสุนทรภู่รำพันถึงผู้สูงศักดิ์ไว้ในรำพันพิลาปนั่นเอง ท่านรำพันว่า

      จะออกปากฝากรักก็ศักดิ์ต่ำ       กลัวจะซ้ำถมทับไม่นับถือ
ถึงยามนอนร้อนฤทัยดังไฟฮือ       ชมแต่ชื่อก็ค่อยชื่นทุกคืนวัน
เวลาหลับคลับคล้ายไม่วายเว้น       ได้พบเห็นชื่นใจแต่ในฝัน
ขอฝากปากฝากคำที่รำพัน       ให้ทราบขวัญนัยนาด้วยอาวรณ์ ฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่านิราศพระแท่นดงรังที่เป็นบทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่นั้นไม่ใช่ฉบับของนายมี แต่เป็นฉบับของสามเณรกลั่นจากวรรณกรรม ๒๕ เรื่องของท่านสุนทรภู่นั้น เป็นที่เห็นได้ว่า ท่านสุนทรภู่เป็นอัจฉริยจินตกวีที่มีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการนิพนธ์วรรณกรรมซึ่งไม่มีใครเทียบเท่าทั้งในอดีตและในปัจจุบันและอาจตลอดถึงในอนาคต ในการชมธรรมชาติ เช่น ชมนก ชมไม้ ชมสวน ชมป่าดงพงพี และขุนเขาลำเนาไพร ไม่ว่าจะในนิราศหรือในนิยายประโลมโลก ท่านได้จำแนกแยกแยะชนิด ลักษณะ สภาพ และความงดงามของนานาธรรมชาติไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะฝนการกล่าวถึงธรรมชาติของคน ทั้งในการชมโฉม การเกี้ยวพาราสี การแสดงความรัก ความหึงหวง การคร่ำครวญ ความโศกเศร้า หรือความอัศจรรย์ ท่านได้พรรณนาไว้อย่างพิสดารด้วยคารมที่คมคาย ไพเราะ ซาบซึ้ง ตรึงใจและไม่ซ้ำซ้อนกัน
 
ในการพรรณนาถึงภาวะสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในวัง ในกรุง ในชนบทหรือในป่าในดง ท่านก็พรรณนาไว้โดยละเอียดถี่ถ้วนเช่นเดียวกับการพรรณนาถึงลักษณะของราชรถ พระเมรุมาศ โบสถ์วิหาร ตลอดจนการรบทัพจับศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนิยายประโลมโลกนั้นทุกเรื่องท่านได้วางเนื้อเรื่องไว้อย่างสุขุมรอบคอบ สมเหตุสมผล และเหมาะสมกลมกลืน ไม่มีขาดไม่มีเกิน ตัวสำคัญในเรื่องทุกเรื่องจะมีอุปนิสัย พฤติกรรม กริยาและคารมเสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนั้น ท่านยังได้ฝากภาษิตหรือคติธรรมตลอดจนคำสอนอันเป็นสัจจธรรมไว้ในวรรณกรรมของท่าน รวมทั้งความคิดล้ำยุคอันเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ที่คนในสมัยของท่านคิดไม่ถึงว่าจะเกิดมีขึ้น นี้คือข้อสรุปของความเป็นอัจฉริยะในการนิพนธ์บทกวีนิพนธ์อันสูงส่งของมหากวีไทย 

บทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่เกือบทั้งหมดเป็นกลอนแปด เฉพาะนิราศสุพรรณเป็นโคลงสี่สุภาพ และพระไชยสุริยาและบทเห่เป็นกาพย์ ท่านสุนทรภู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผุ้ต้นคิดกลอนตลาด หรือที่เรียกว่ากลอนสุภาพ คือ กลอนแปดนั่นเอง เป็นคำกลอนที่ใช้ถ้อยคำตรงๆ หรือ คำตลาด ฟังง่าย เข้าใจง่าย มีสัมผัสใน และมีระดับเสียงขึ้นลงเหมือนเสียงดนตรี ทำให้ฟังไพเราะรื่นหู ซึ่งไม่มีกวีผู้ใดเคยทำมาก่อน

ในบรรดาบทกวีนิพนธ์เหล่านี้ ได้มีผู้แปลหรือย่อเรื่องเป็นภาษาต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระประธม พระไชยสุริยา รำพันพิลาป และพระอภัยมณี บทกวีนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่ของท่านสุนทรภู่ คือ พระอภัยมณี ซึ่งเป็นคำกลอนมีจำนวนถึง ๒๕,๔๑๒ คำกลอน หรือประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คำ คิดเป็นบทโศลกของพราหมณ์ เท่ากับ ๑๒,๗๐๖ บท ยาวกว่าบทกวีนิพนธ์สมัยกรีกโบราณอันลือโลกเรื่องอิลเลียด (Iliad)และออดิสซีย์ (Odyssey) ของมหากวีโฮเมอร์ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๒,๕๐๐ บทโศลก และสารานุกรมบริตานิกายกย่องว่า เป็นงานอันดับแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดของวรรณคดีโลก บทกวีนิพนธ์ที่ยาวกว่าเรื่องพระอภัยมณี เห็นจะมีก็แต่มหาภารตของอินเดียเท่านั้น ส่วนบทกลอนในวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ นอกจากพระอภัยมณีมีจำนวนรวมกัน ๑๐,๙๒๐ บท เมื่อรวมกับบทกลอนในพระอภัยมณีแล้วก็จะมีจำนวนถึง ๒๓,๖๒๖ บท 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงให้ความเห็นไว้ในประวัติท่านสุนทรภู่ว่า ถ้าจะให้เลือกกวีไทยบรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร คัดเอาแต่ที่วิเศษเพียง ๕ คน ใครๆก็เห็นจะต้องเอาชื่อท่านสุนทรภู่ไว้ในกวี ๕ คน นั้นด้วย

ผลงานบางส่วนของสุนทรภู่

ผลงานของสุนทรภู่มีอยู่มากมายและหลากหลายตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเท่าที่ปรากฏเรื่องและยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบัน คือ

  • ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง และนิราศเมืองสุพรรณ (เป็นเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่าท่านเก่งแต่แต่งกลอนเท่านั้น)
  • ประเภทนิทาน ได้แก่ เรื่องโคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์และสิงหไกรภพ
  • ประเภทสุภาษิต ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง
  • ประเภทละคร ได้แก่ พระอภัยนุราช
  • ประเภทเสภา ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเรื่องพระราชพงศาวดาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่
  • ประเภทบทเห่กล่อม ได้แก่ เห่เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เ รื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร

อนุสาวรีย์สุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ตั้งอยู่ที่ ถนนเส้นทาง แกลง-แหลมแม่พิมพ์ ตำบล บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง สร้างสำเร็จตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2513 และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พฤษภาคม 2513 ครอบคลุมพื้นที่ 8.5 ไร่ โดยเงินที่ใช้สร้างนั้นส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคของทั่วประเทศไทย รูปร่างลักษณะของอนุสาวรีย์สุนทรภู่จะตั้งอยู่บนเนินสูง รอบด้วยบ่อน้ำ มีรูปปั้นของตัวละคนต่างๆ ในวรรณคดีที่สุดทรภู่ได้แต่งขึ้นประดับอยู่โดยรอบ ทั้งหมดออกแบบโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ข้อมูลจาก: เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, Wikipedia