ประวัติวันภาษาไทยแห่งชาติ
ในวันที่ 29 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งคือ วันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งมีไว้ให้เราไว้รำลึกถึงคุณค่าของภาษาไทยที่เป็นเราเอง ซึ่งจะตรงกับวันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปี รู้ถึงความสำคัญอย่างนี้แล้ว เรามารู้จักประวัติ และความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติกันดีกว่า
ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
เนื่องจากได้มคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และสืบเนื่องจากปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน จึงเกิดความห่วงใยถึงปัญหาต่างๆ จึงได้จัดกรรมเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนถึงทำนุบำรุง และอนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่ไทยตลอดไป จึงได้มีการเสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฏาคม 2542 ให้วันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 29 กรกฏาคม เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”
สำหรับวันที่ 29 กรกฏาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้น เพราะตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2505 โดยทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยพระองค์ทรงอภิปรายและสรุปอภิปรายได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยกับความห่วงใยในการใช้ภาษาไทย คณะรัฐมนตรีจึงลงความเห็นว่าสมควรที่จะกำหนดให้ วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปีนั้นเอง
วัตถุประสงค์
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
- เพื่อร่วมเฉลิมเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542
- เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าภาษาไทย ตลอดจนช่วยทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง
- เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ
- เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและ เอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ สู่สาธารณชนทั้งฐานะที่เป็นประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนชาติ
ประโยชน์ที่ได้รับจาก “วันภาษาไทยแห่งชาติ”
1. ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและ เอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัยต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ร่วมทั้งกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ”
2. บุคคลในวงการวิชาชีพ ที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษาและ วงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลการใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง
3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและ สนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและ อนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
โดยส่วนมาในวันภาษาไทยแห่งชาติ จะมีกิจกรรมทั้งของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมการใช้ภาษา การจัดนิทรรศการ การอภิปรายทางวิชาการ การประกวรคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง เป็นต้น
หากจะพูดถึงภาษาไทย ที่เราได้เคยเรียน ศึกษาสมัยเด็ก เราคงจะรู้จักกันดี กับ มานี มานะ วีระ ปิติ ชูใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวละครที่อยู่ในชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม เป็นหนังสือที่มั่นใจได้ว่าทุกคนจะมีความหลัง กับการเรียนวิชาภาษาไทย
โดยหนังสือแบบเรียนภาษาไทย เขียนโดย รัชนี ศรีไพรวรรณ มีหลักการในการเขียน โดยมุ่งหมายสอนให้ความรู้ทางภาษา ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ด้วยจำนวนคำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ชั้น ประถมศึกษาที่ 1 กำหนดไว้ 150 คำ และเพิ่มขึ้นเป็นพันๆ คำ เมื่อเลื่อนชั้นจนสิ้นสุดที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนมาถึงปี พ.ศ. 2537 ได้ถูกถอดออกจากแบบเรียนเพราะเนื้อหาไม่ทันยุคทันสมัย
เดือน มกราคม พ.ศ.2544 นิตยสารอะเดย์ได้ปลุกให้ มานะ มานี ปิติ ชูใจ กลับมาทักทายเตือนความทรงจำในวัยเด็กของพวกเราอีกครั้ง กระแสต้อนรับ “เพื่อนเก่า” เป็นไปอย่างอบอุ่นจนทำให้ตัวละครเหล่านั้นได้มาโลดแล่นอยู่กับพวกเราเป็น เวลาติดต่อกันถึง 1 ปี
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มานะ มานี ปิติ ชูใจ คลิกเลย
แสดงความคิดเห็น