มูลนิธิเอสซีจี เปิดตัวหนังสือภาพชั้นดีระดับโลก 5 เรื่อง จากโครงการ "นำหนังสือดีสู่เด็กไทย" ปีที่ 6 จุดประกายครอบครัวไทยร่วมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกน้อย พร้อมเน้นย้ำ "การเล่านิทาน อ่านหนังสือ" จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและวางรากฐานของเด็กปฐมวัยให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ทั้ง เก่งและดีได้ในอนาคต
นายขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า "มูลนิธิเอสซีจี รณรงค์ส่งเสริมวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือในสังคมไทยมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 โดยจุดประกายให้พ่อ-แม่ และผู้ปกครองหันมาเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟัง และเพื่อให้ทุกครอบครัวมีโอกาสในการเข้าถึงหนังสือภาพได้ง่ายขึ้น เราจึงริเริ่มโครงการ "นำหนังสือดีสู่เด็กไทย" ขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน โดยคัดสรรหนังสือภาพชั้นดีระดับโลกมาแปลโดยนักแปลผู้มีชื่อเสียงของประเทศ ไทย พร้อมจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยปีละ 5 เล่ม ในปีนี้ เราภูมิใจที่ได้เปิดตัวหนังสือภาพชุดใหม่ ได้แก่ "มือหนูอยู่ไหน" "เจ้าหญิงถุงกระดาษ" "รอยทะเล" "นี่คือหนังสือ" และเล่มที่ 5 ซึ่งเป็นเล่มพิเศษ ชื่อเรื่อง "ดึ๋ง ดึ๋ง ดึ๋ง ดึ๋ง" เป็นหนังสือสื่อภาพนูนอักษรเบรลล์สำหรับเด็กปฐมวัยผู้บกพร่องทางการมองเห็น เล่มแรกของประเทศไทย จัดทำเพื่อมอบให้กับห้องสมุดและโรงเรียนสอนคนตาบอด 12 แห่งทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ด้วยมุ่งหวังให้เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นได้มีโอกาสสัมผัสความสุนทรีย์ เรียนรู้หนังสือภาพชั้นดีเท่าเทียมกับเด็กปกติ"
สำหรับจุดเด่นของการจัดทำหนังสือภาพทั้ง 5 เล่ม อาจารย์พรอนงค์ นิยมค้า เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก หนึ่งในกองบรรณาธิการ เปิดเผยว่า "หนังสือภาพทุกเล่มในโครงการหนังสือดีสู่เด็กไทย ได้รับการใส่ใจในทุกองค์ประกอบอย่าง พิถีพิถัน ตั้งแต่การเลือกเรื่อง, การออกแบบ, สีสัน, การแปล, การนำประเด็น และแม้กระทั่งตัวอักษรทุกตัว เพื่อให้หนังสือภาพชุดนี้เหมาะกับเด็กวัยแรกเกิด-6 ปี ทำให้การอ่าน การฟัง พร้อมกับดูภาพได้อรรถรสเต็มเปี่ยม อย่างเรื่อง "มือหนูอยู่ไหน" เป็นหนังสือภาพที่โดดเด่นด้วยการใช้สีเพียงไม่กี่สี ให้ความรู้สึกแปลกตา แสดงภาพทารกน้อยขณะพยายามสวมเสื้อผ้า ทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวาทุกหน้า เรื่อง "เจ้าหญิงถุงกระดาษ" ใช้ภาพประกอบด้วยลายเส้นและสีน้ำที่มีชีวิตชีวาแสดงความรู้สึก แฝงอารมณ์ขันสะท้อนให้เห็นความงามในจิตใจที่สำคัญกว่าความงามของเปลือกนอก เรื่อง "รอยทะเล" เป็นหนังสือที่ชนะเลิศรางวัลคาลเดอคอต ที่ได้รับการออกแบบภาพเล่าเรื่องโดยไม่ต้องมีคำบรรยาย ด้วยรายละเอียดภาพผสมผสานเทคนิคหลากหลายที่ชวนให้ผู้อ่านเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจกับจินตนาการและฝีมือวาดภาพอันล้ำเลิศของผู้เขียน สำหรับเรื่อง "นี่คือหนังสือ" เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กในยุคโซเซียลมีเดียที่อาจหมกมุ่นอยู่กับจอ คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จนลืมมนต์เสน่ห์ของหนังสือ เล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านจะได้ทั้งความสนุกและได้คิดตาม"
หนังสือภาพเล่มที่ 5 ซึ่งเป็นเล่มพิเศษของโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 6 นั่นคือ หนังสือภาพเรื่อง "ดึ๋ง ดึ๋ง ดึ๋ง ดึ๋ง" หนังสือสื่อภาพนูนอักษรเบรลล์สำหรับเด็กปฐมวัยผู้บกพร่องทางการมองเห็นเล่ม แรกของประเทศไทย ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเด็กบกพร่องทางการมองเห็น "เราได้ปรับรูปลักษณ์ตัวดึ๋งใหม่ ให้รู้สึกว่าเป็น "ตัวอะไรสักอย่าง" มีหน้าตา มือ เท้า หาง แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นตัวอะไร เพราะมันคือ "ตัวดึ๋ง" เทคนิคสร้างภาพประกอบเป็นลายเส้นพิเศษผนวกกับการประจุดบนลายเส้นเพื่อตอบ สนองการสัมผัสของผู้พิการทางสายตา ใช้เส้นและจุดเป็นหลักในการวาดภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการสัมผัสเส้นและจุดของอักษรเบรลล์และ สัญลักษณ์เพื่อการสัมผัสที่ปรากฏในสังคมสำหรับคนตาบอดเช่น เส้นและจุดบนทางเท้า" ครูชีวัน วิสาสะ นักประพันธ์หนังสือภาพสำหรับเด็ก กล่าว
"เด็กในช่วงแรกเกิด-6 ปี หรือปฐมวัยเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาอย่างมาก เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการวางรากฐานสำคัญเพื่อการเรียนรู้ในช่วงวัย ถัดไป เด็กจะเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมผ่านการมอง การฟัง และการสัมผัส การเล่านิทาน อ่านหนังสือ สามารถส่งเสริมพัฒนาการได้ตั้งแต่ขวบปีแรกผ่านเสียงและภาพที่กระตุ้นประสาท สัมผัสให้มีการพัฒนาด้านภาษา และการเรียนรู้ผ่านการมองเห็นและการได้ยิน ทำให้เกิด ภาษาพูด ภาษาอ่าน และ ภาษาเขียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาหรือ IQ (Intelligence Quotient) และความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient) นอกจากนี้ การเล่านิทานให้เด็กฟังยังช่วยพัฒนาการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตน เองและผู้อื่นทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ของการพัฒนาคุณธรรม หรือ MQ (Moral Quotient) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของนิทานมักจะมีข้อสรุปว่านิทานเรื่องนี้สอนให้ รู้ว่า....ซึ่งจะช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักคิดและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ติด ตัวเด็กไปจนโตอีกด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ร.ศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริม
ผู้ที่สนใจสามารถร่วมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และหาซื้อหนังสือภาพดังกล่าวได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือร่วมบริจาคเงินเข้า "กองทุนนำหนังสือดีสู่เด็กไทย" พร้อมรับหนังสือภาพชุดดังกล่าวกลับไปเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยได้ โดยมูลนิธิเอสซีจีจะนำรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้อหนังสือภาพเพื่อมอบให้เด็กที่ ขาดแคลนทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร.0-2586-2547 อีเมล ecd.scgfoundation@scg.co.th หรือ www.scgfoundation.org หรือ Facebook http:// www.facebook.com/SCGFoundation.ECD--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
เข้าชม : 807
|