จากพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนที่ทรงเล่าถึงวิธีการซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้อบรมพระราชโอรส และพระราชธิดานั้น ได้สะท้อนถึงกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ โดยอาจสังเคราะห์ออกเป็น 10 วิธีการ เพื่อที่พสกนิกรจักน้อมนำไปปรับใช้สร้างเสริมนิสัยรักการอ่านในครอบครัวของตนได้ ดังนี้
|
|
|
“...พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรก ท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะและประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือ ท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่า บางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์,ประวัติบุคคลสำคัญและความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย
นานๆ ทีก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่า หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่า มันสนุกตื่นเต้น มีรส มีชาติขึ้นมาทันที
ท่านจะเน้นระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากสมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติมแล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ เรื่องนิทานของสมเด็จแม่ มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มีจ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด
เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทยโดยการอ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่อง คือ พระอภัยมณี, อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ
คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอนตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้ว สมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่อง ให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้...”
บางตอนจากพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
|
วิธีที่ ๑. ใช้เวลาสบายๆ ของครอบครัวเพื่อส่งเสริมการอ่าน
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรก ท่านจะได้ดูว่ารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะและประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือ...”
การน้อมนำไปปรับใช้
การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านเริ่มต้นที่พ่อแม่ พ่อแม่อ่านลูกก็อ่าน พ่อแม่ควรจัดเวลาการอ่านหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับหนังสือที่ชัดเจน แทนที่จะดูทีวีกลับเปลี่ยนเป็นพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือในระหว่างมื้ออาหาร พาลูกไปร้านหนังสือหรือห้องสมุดทุกสัปดาห์ การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านต้องไม่เคร่งเครียด ควรเป็นเรื่องสบายๆ ที่ทุกคนในครอบครัวมีความสุขร่วมกันได้
วิธีที่ ๒. เลือกหนังสือดีที่เด็กสนุก
ข้อความในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่”
“…ท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง...”
การน้อมนำไปปรับใช้
หนังสือดีมีคุณภาพที่สนุก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กผูกพันกับหนังสือและการอ่าน เมื่อใดรู้ว่าลูกชอบเรื่องแบบไหน การส่งเสริมให้เกิดการขวนขวายอ่านเองของลูก ก็จะง่ายขึ้น
วิธีที่ ๓. ให้เด็กได้รู้เรื่องราวหลากหลาย จากพหุวัฒนธรรม
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นหนังสือนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์, ประวัติบุคคลสำคัญหรือความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย...”
การน้อมนำไปปรับใช้
หนังสือหรือเรื่องราวบางแนวอาจไม่สนุกหรือน่าสนใจนักสำหรับเด็กๆ แต่การแนะนำที่มีเสน่ห์โดยพ่อแม่จะขยายขอบฟ้าแห่งการเรียนรู้ของลูกให้กว้างไกลและสร้างแรงบันดาลใจที่หลากหลาย ทำให้ลูกมีความรอบรู้ที่กว้างขวาง มีจิตใจที่เปิดรับความแตกต่าง รู้เหตุผลที่มาที่ไปของวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกนี้
วิธีที่ ๔. มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิด
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...นานๆ ทีก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท...”
การน้อมนำไปปรับใช้
การพัฒนาทักษะการคิดเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ควรทำควบคู่ไปกับการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน เพราะในท้ายที่สุด เราหวังว่าเด็กๆ จะใช้ประโยชน์จากการอ่านได้ เด็กๆ ไม่อ่านเพื่อที่จะเชื่อ แต่อ่านเพื่อที่จะคิด ทั้งทักษะการคิดระดับต้น(จำ-เข้าใจ-ประยุกต์ใช้) และทักษะการคิดระดับสูง(วิเคราะห์-สังเคราะห์-ประเมิน) ดังนั้นการจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการคิดและสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
วิธีที่ ๕. ใช้ทักษะนาฏการในการเล่า
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่า หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่า มันสนุกตื่นเต้นมีรสมีชาติขึ้นมาในทันที...”
การน้อมไปปรับใช้
วิธีการแบบนาฏการที่ง่ายที่สุดในการเล่าเรื่องสำหรับเด็กๆ คือ ๑.แยกเสียงบรรยายหรือการเล่าโดยทั่วไป ออกจากเสียงบทสนทนาของตัวละคร ๒.เล่าอย่างมีชีวิตชีวาโดยเห็นภาพพจน์ของสิ่งที่เล่าและภาวะอารมณ์ของตัวละคร ๓.ออกเสียงชัดเจน ถูกอักขรวิธี แต่ในขณะเดียวกันก็มีลูกเล่นแปลกๆ บ้าง ๔.และที่สำคัญที่สุด มีความสุขในขณะเล่าไปพร้อมกับเด็กๆ
วิธีที่ ๖. ใช้กิจกรรมศิลปะเชื่อมโยงกับการอ่าน
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...ท่านจะเน้นระบายสี...”
การน้อมไปปรับใช้
กิจกรรมศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือและการอ่าน นอกจากช่วยพัฒนาสุนทรียภาพในเด็กแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในมิติอื่นๆของเรื่องราว เป็นเสมือนการวิจัยย่อมๆ ที่เด็กๆ กระทำได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย กิจกรรมศิลปะมีหลากหลาย อาทิ วาดรูประบายสี (ด้วยเทคนิคต่างๆ – สีเทียน – สีไม้ – สีน้ำ – สีน้ำมัน – สีโปสเตอร์ – สีดิน – สีดอกไม้ – สีพืชผัก) ทำประติมากรรม,ทำหุ่น,ทำละคร,ร้องเพลง
วิธีที่ ๗. สอนให้รู้จักสกัดความรู้และจับใจความสำคัญ
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ซึ่งเปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติมแล้วใช้จอบข้อสอบหรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ...”
การน้อมไปปรับใช้
เมื่ออ่านแล้วต้องสามารถจับใจความสำคัญและสกัดความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ แรกเริ่มพ่อแม่อาจช่วยสรุป ช่วยสกัดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยสร้างความคุ้นเคยในระเบียบวิธีการแก่เด็กๆ เป็นปฐม ต่อมาอาจฝึกให้เด็กใช้แผนภูมิ แผนภาพต่างๆ เช่น แผนภาพใยแมลงมุม แผนภาพก้างปลา เพื่อหัดจับใจความสำคัญและสกัดความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองได้ หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่ที่จริงแล้วไม่ยากเลยหากเด็กได้มีการฝึกฝนทักษะเหล่านี้อยู่เป็นประจำ
วิธีที่ ๘. ต่อยอดจากประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...เรื่องนิทานของสมเด็จแม่ มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่องผี แต่ก่อนหน้านี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด..."
การน้อบไปปรับใช้
พ่อแม่ต้องไวในเรื่องการรับรู้และความสนใจของลูก และเป็นฝ่ายช่วงชิงใช้ประโยชน์จากความสนใจที่เกิดขึ้นแล้วนั้นๆ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เสริมหรือนำมาใช้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง
วิธีที่ ๙. นำเด็กสู่โลกแห่งวรรณคดี
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทยโดยให้อ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่อง คือพระอภัยมณี,อิเหนาและรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน...”
วิธีที่ ๑๐. พัฒนาทักษะไพรัชภาษาพาสู่โลกกว้าง
ข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่”
“...ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์ภาษาอังกฤษให้ท่อง ให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้...”
การน้อมนำไปปรับใช้
การอ่านทำให้รู้จักตนเอง และรู้จักโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะการอ่านไพรัชภาษาในเด็กซึ่งกำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกทุกวันนี้ ตำราไทยที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศนั้นล่าช้ากว่าเวลาจริงของเอกสารนั้นๆ อยู่หลายปี บางเล่มเป็นสิบปี การที่เด็กเข้าถึงหนังสือต่างประเทศได้ ทำให้ไทยรู้เขารู้เรา สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีสากลมาประสมกับความรู้ไทย เพื่อสร้างสรรค์ประเทศของเราให้จำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ที่มา:http://www.manager.co.th
|
เข้าชม : 739
|