ความหมายของครู
ครู หมายถึง
ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า
"หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น
"ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคนคนหนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน
"ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี
"ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น
"ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน
ความสำคัญของครู
ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี
ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆ คน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง
ประวัติความเป็นมาวันครู
วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู
ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น
วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น
วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว
งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ