สถานการณ์การอ่านของคนในกลุ่มประเทศอาเซียน มีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่ง คือ ขาดโอกาสและมีอุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือ เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศ ได้จัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 หัวข้อ “อ่านเพื่อความเท่าเทียม” เมื่อเร็วๆ นี้ หวังกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นำมาสู่ปัญหาของการอ่านและการเข้าถึงหนังสือดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการ สบร. และผู้อำนวยการ สอร. กล่าวว่า สอร.มีแนวคิดส่งเสริมการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองอาเซียน (ASEAN Community) การประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อขยายองค์ความรู้ที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศทางด้านนโยบายการอ่าน และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันมากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading
การประชุมครั้งนี้นอกจากมีวิทยากรรับเชิญจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม มาแบ่งปันประสบการณ์และนำเสนอแนวคิดในการส่งเสริมการอ่านเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในบริบทของประเทศตนเองแล้ว ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษเรื่อง "วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์" โดย ดร.สุเนตร กล่าวว่า การอ่านหนังสือมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหรือนิสัยของคนในแต่ละประเทศ เพราะหนังสือมีส่วนสำคัญอันเสมือนเป็นประตูที่ทำให้เข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ เข้าใจเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง
“ปัจจุบันเวลาที่กล่าวถึงอาเซียน เรามักให้น้ำหนักไปทางมิติเศรษฐกิจ เรื่องของผู้นำ การเมือง และกองทัพในบางภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทุกชาติในอาเซียนเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นการมองเพื่อนบ้านโดยไม่ได้เน้นมิติความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมวัฒนธรรมเท่าไรนัก ทั้งที่มิติด้านนี้นำมาซึ่งเป็นความมั่นคงของมนุษย์ ความเข้าใจสัมพันธ์อันดี มีความเป็นเอกภาพต่อกัน ดังนั้น การทำให้ประชาชนในอาเซียนเข้าใจ เห็นคุณค่า และไว้เนื้อเชื่อใจกัน จะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับ และเคารพกันและกัน ซึ่งหนังสือเป็นสื่อที่ทำให้เราสามารถเข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียนในมิติความเป็นมนุษย์ได้”
รศ.ดร.สุเนตร อธิบายต่อว่า จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีงานวิจัยหลายโครงการที่ทำการสำรวจว่าเพื่อนบ้านคิดเกี่ยวกับไทยอย่างไร และไทยคิดเกี่ยวกับเพื่อนบ้านอย่างไร โดยศึกษาจากงานวรรณกรรมของหลายประเทศ เช่น งานวิจัยหนังสือของกัมพูชา โดย ดร.ใกล้รุ่ง อามาระดิษ ศึกษานิยายเรื่อง มาลาดวงจิต เป็นนิยายรักระหว่างหนุ่มกัมพูชากับสาวไทย ภายใต้บรรยากาศสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
วรรณกรรมเล่มนี้สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาคนกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพลงไทย สตรีไทย การนุ่งห่มแต่งตัว คำพูด รอยยิ้ม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นมิติของความเป็นมนุษย์
โดย หนังสือแต่ละเล่มยังช่วยให้เข้าใจบริบททางสังคมที่หนังสือนั้นๆ ถูกเขียนขึ้น เช่นกรณีของหนังสือเรื่อง ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก ของประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมซีไรต์ ปี 2010 เป็นหนังสือที่มีลีลาการเขียนอ่อนโยน นำเสนอโลกของเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการ แต่ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจ สะท้อนให้เห็นว่ารสนิยมในการบริโภคหนังสือและโลกทัศน์ของชาวเวียดนาม ได้เปลี่ยนแปลงจากเรื่องของการปฏิวัติ การต่อสู้ ไปสู่เรื่องที่มีมิติความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันคนเวียดนามกำลังให้คุณค่ากับสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น เนื้อหาของหนังสือที่อ่านก็เป็นไปในทำนองนี้ โลกของเวียดนามตอนนี้ไม่ใช่โลกแห่งความขัดแย้ง เพราะหนังสือเปิดโลกแห่งความสนใจของคนเวียดนามไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเองและสังคม”
“กล่าวได้ว่า หนังสือเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจเพื่อนบ้านในมิติที่ลุ่มลึกขึ้น นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญมาก หนังสือเปรียบเสมือนหน้าต่างหรือประตูที่เผยให้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ของแต่ละประเทศ หากส่งเสริมให้ทุกคนอ่านหนังสือของเพื่อนบ้านจะช่วยทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์และตัวตนของคนในอาเซียนด้วยกันได้ดียิ่งขึ้น” รศ.ดร.สุเนตร กล่าว
ที่มา:news.thaipbs.or.th
เข้าชม : 730
|