พระราชพิธีพืชมงคล พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกร มีการจัด พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งจะแบ่งได้เป็น พระราชพิธีพืชมงคล และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพิธีนี้เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ ที่มีมาตั้งแต่โบราณ จุดหมายเพื่อเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจแก่ เกษตรกรในประเทศไทย
» พิธีพืชมงคล
เป็นพิธีกรรม ทำขวัญเมล็ดพันธุ์ เช่น ข้าวชนิดต่างๆ ถั่ว งา มัน เผือก เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น เกิดความอุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงาม และนำไปแจกจ่ายเกษตรกรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเพาะปลูก
» พิธีแรกนาขวัญ
เป็นพิธีจุดหมายเพื่อประกาศ ว่าได้ถึงฤดูแห่งการเพาะปลูก และทำนา ได้เวลาเริ่มหว่านเมล็ดข้าวแล้ว เป็นการส่งเสริม บำรุงขวัญและกำลังใจ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก มีการทำนาย ความสมบูรณ์ ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในประเทศ โดยการเสี่ยงทาย จากการกินของพระโคแรกนาขวัญ
» กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติ
กิจกรรมที่ประชาชน พสกนิกรชาวไทยควรปฏิบัติได้แก่ การติดธงชาติ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่ราชการ, การจัดนิทรรศการ แสดงประวัติ ความเป็นมาของวันพืชมงคล, เข้าร่วมและชมการถ่ายทอดสด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บริเวณท้องสนามหลวง
จัดงานพระราชพิธียิ่งใหญ่ พืชมงคลแรกนาขวัญปี2558 | เดลินิวส์
„งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งานแรกนาขวัญ จัดขึ้นเป็นงานเฉพาะเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่กระบวนการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของประเทศไทย มุ่งหมายบำรุงขวัญให้กำลังใจแก่เกษตรกรของชาติเมื่อย่างเข้าสู่ต้นฤดูกาลเพาะปลูกทุกปี ตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้นงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงเป็นพระราชพิธีที่สมบูรณ์พร้อม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคม ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น สำหรับในปีนี้งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 และ 13 พ.ค. 58 การจัดงานพระราชพิธีฯ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีฯ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ในพิธีมีการกำหนดไว้ว่า พระยาแรกนาจะต้องเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น นอกจากว่าปลัดกระทรวงฯ ติดราชการสำคัญยิ่งอื่น ๆ หรือสุขภาพไม่ดี จึงขอพระบรมราชานุญาตมอบหมายให้ผู้อื่นที่เหมาะสม ทำหน้าที่แทน ในปี 2558 นี้ ผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นปีที่ 3 แล้ว ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน ซึ่งจะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการสาวโสดของกรมต่าง ๆ โดยปีนี้คู่หาบเงินคัดเลือกมาจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ ดินเพื่อเกษตรกรรม 1 คน คือ นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา และจากกรมชลประทาน คือ ว่าที่ ร.ต.หญิง ณฐมน อยู่เล่ห์ ส่วนเทพีคู่หาบทองปีนี้ เลือกจากผู้ที่เคยทำหน้าที่คู่หาบเงินเมื่อปีที่แล้ว 2 คน คือ นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ จากกรมการข้าว และ นางสาวจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ จากกรมวิชาการเกษตร สำหรับพระโคปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโค คือ จะต้องเป็นพระโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ของรอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปี จะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้คู่จริง คือ พระโคฟ้าและพระโคเลิศ ส่วนคู่สำรอง คือ พระโคเล่มและพระโคพูล ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธีนั้นได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งในปีนี้พันธุ์ข้าวที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,695 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี ส่วนหนึ่งจัดใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ แจกจ่ายแก่เกษตรกรให้รับไปเป็นมิ่งขวัญตามพระราชประสงค์ … การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นมีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนา จะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้น เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และ สี่คืบ หากมีการหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดีข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือภายหลังจากการไถหว่าน ซึ่งจะเป็นการไถดะและไถกลบแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และ หญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่าธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโค กินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้นการค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง นี่คือความสำคัญของพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน.“
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/agriculture/320190
เข้าชม : 543
|