"วันรักการอ่าน" มีความสำคัญเช่นไร ทำไมจึงมีการกำหนดวันรักการอ่านขึ้นมา คนไทยอ่านหนังสือน้อยอย่างที่เขาวิจัยมาจริงหรือไม่ การอ่านมีผลต่อความอัจฉริยะจริงหรือเปล่า มาติดตามกันเลยดีกว่า . . .
2 เมษายน วันรักการอ่าน
วันนี้เรามีวันสำคัญอีกวันหนึ่งมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกันนั่นคือ "วันรักการอ่าน" ซึ่งตรงกับวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับคนไทย การอ่านถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถสร้างเสริมความรู้ ความคิด จินตนาการ และสร้างคนให้เป็นอัจฉริยะได้ด้วย
ประวัติความเป็นมาของ 2 เมษายน วันรักการอ่าน
ในปี พ.ศ.2552 คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงมีคุณูปการต่อวงการหนังสือไทย เป็น "วันรักการอ่าน" โดยในแต่ละปีนั้น จะมีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ (Bangkok International Book Fair) ขึ้นในช่วงเวลาของวันที่ 2 เมษายนของทุก ๆ ปีด้วย
การมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก จะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ดังที่ Margaret Fuller กล่าวเป็นประโยคภาษาอังกฤษประโยคหนึ่ง สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
Today a reader, tomorrow a leader.” - Margaret Fuller
การอ่านสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะได้จริงหรือ
ปัจจุบันไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่อ่านหนังสือลดลง มีกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาให้ทำมากขึ้น หรือนิยมอ่านข่าวสั้นๆ เช่น ทวิตเตอร์ นิยมอ่านแต่พาดหัวข่าว เป็นต้น การอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ต่อการขยายขอบเขตความรู้และจินตนาการ โดยสรุปแล้วเนื้อหาการอ่านที่เราจะได้รับจจะมีอยู่ 2 ประการคือ
1. เป็นลักษณะของการให้ข้อมูล เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญ นักวิทยาศาตร์ของโลก เป็นต้น จะทำให้เราสามารถทราบเหตุการณ์ในอดีต ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะอะไร ทำไม อย่างไร ถ้าเราไม่ได้อ่านก็จะทราบแต่เรื่องราวปัจจุบัน ยิ่งเราอ่านหนังสือของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ผ่านมายาวนานเท่าไหร่ เราก็ได้ทราบข็อมูลย้อนกลับไปได้นานเท่านั้น
2. เป็นเนื้อหาความรู้เชิงความคิด จินตนาการ เช่น นิยาย นิทาน วรรณกรรมต่างๆ ได้แก่ แฮรี่พ็อตเตอร์ ทำให้คนอ่านเกิดจินตนาการตามไปด้วย เกิดเป็นมโนภาพ เด็กๆ ที่พ่อแม่เล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ ก็จะมีจินตนาการที่กว้างไกลกว่าเด็กที่ไม่ได้ฟัง ทำให้สามารถส่งเสริมการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
เด็กเริ่มรู้ความจนถึงอายุ 6 ขวบ ช่วงนี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เพราะสมองเด็กนั้นเมื่อเลยอายุ 6 ขวบ เซลส์สมองจะเริ่มอยู่นิ่งกับที่ แต่ในช่วง 6 ปีแรกนั้นกำลังพัฒนา ถ้าพ่อแม่รู้จักเอาเรื่องเล่าอย่างที่เราเคยฟังในสมัยก่อน เช่น นิทานก่อนนอนมาเล่าให้ลูกฟัง เลือกเอาเรื่องที่น่าสนใจ จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการ และสมองจะมีการพัฒนา
ทำอย่างไรจะเลี้ยงลูกให้ฉลาดเหมือนไอสไตน์
มีคนเคยไปถามไอสไตน์ว่า ทำอย่างไรจะเลี้ยงลูกให้ฉลาดเหมือนท่าน ไอสไตน์ก็ตอบว่าให้เล่านิทานให้ลูกท่านฟังก่อนนอนสิ แล้วฝึกลูกให้รักการอ่าน เพราะตัวเขาเองเขาก็ได้มาอย่างนี้ ทำให้มีจินตนาการ รู้จักคิด รู้จักจับประเด็น มันจะพัฒนาการต่อยอดไปได้เรื่อยๆ นี้คือบทสรุปของอัจฉริยะของโลก
ประเทศญี่ปุ่นสร้างชาติได้ด้วยการอ่านหนังสือนี่แหละ เพราะพออ่านมากๆ เข้าก็มีข้อมูลมาก ก็จะทำให้คนฉลาดขึ้น ขอบเขตความรู้ของคนญี่ปุ่นจึงค่อนข้างกว้างขวาง ถ้าอยากจะสร้างคนให้ฉลาดให้คิดเป็นก็ต้องฝึกให้อ่านหนังสือ เริ่มจากหนังสือที่มีความเพลิดเพลินก่อนก็ได้ แล้วมันจะค่อยๆ ขยับไปเองไปสู่หนังสือที่มีเนื้อหาสาระมาก
การฝึกนิสัยตนเอง ให้รักการอ่าน
การฝึกนิสัยตนเอง ให้รักการอ่านไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหนังสือมีเรื่องที่น่าสนใจมากมายและยังเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายตามความชอบและความสนใจของแต่ละคน โลกของหนังสือเป็นโลกแห่งอิสระเสรีทางความคิด เราสามารถอ่านความคิดของผู้อื่นแล้วนำมาพัฒนาความคิดของตนเอง การปลูกฝังตนเองให้รักการอ่าน ทำได้ด้วยหลักง่ายๆ 3 ประการ ดังนี้
1. อ่านตามความสนใจ
การเริ่มอ่านจากเรื่องที่ตัวเองชอบและสนใจจำทำให้อ่านหนังสือได้โดยไม่เบื่อ เราอาจเริ่มต้นอ่านจากเรื่องสั้นๆ ไม่ยาวมาก มีภาพประกอบ โดยอาจเริ่มจากการอ่านนิทาน เรื่องสั้น หรือ เรื่องที่จบภายในตอนเดียว ถ้าเรามีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านก็จะอ่านได้ต่อเนื่อง
2. อ่านให้สม่ำเสมอ
การอ่านอย่างสม่ำเสมอเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ที่รักการอ่าน เพราะจะต้องอ่านจนเป็นนิสัย ทันทีที่ว่างจากหน้าที่ที่ทำในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ ถ้าเราสามารถอ่านได้สม่ำเสมอ เราก็จะเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านได้
3. อ่านให้เจอขุมทรัพย์
ขุมทรัพย์ ที่ว่านี้ไม่ใช่ทรัพย์สิน เงินทอง แต่เป็น “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา” ซึ่งมีค่ามหาศาล เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ที่ใครก็มาแย่งชิงไปไม่ได้ ผู้อ่านจะได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน ข้อคิด คุณธรรมที่แฝงอยู่จากเรื่องที่อ่าน รวมถึงได้พัฒนาอารมณ์ของตนเอง ก่อให้เกิดการพัฒนาผู้อ่านในทางที่ดี ฉะนั้นหนังสือที่ดีก็เปรียบเสมือนว่าเราได้พบขุมทรัพย์นั่นเอง
ดังนั้น เราจึงควรหันมาปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วันนี้ เพื่อประโยชน์มากมายในวันข้างหน้า “นิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เกิดจากการปลูกฝัง” โลกของการอ่านกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ่าน รสนิยมของคนอ่าน เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงขนาดของสิ่งพิมพ์ แต่ไม่ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การอ่านก็ยังมีความสำคัญอย่างไม่มีวันลดเลือนหายไปอย่างแน่นอน (ที่มา : popterms.mahidol.ac.th)
6 เทคนิคฝึกลูกรักการอ่าน
6 เทคนิคฝึกลูกรักการอ่าน
1. การอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ เป็นการปลูกฝังความรักต่อหนังสือและการอ่านที่ดี โดยเฉพาะการอ่านนิทาน เราสามารถเสริมจินตนาการด้วยท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและสนุกมากยิ่งขึ้น การอ่านจะเข้าไปอยู่ในใจของเด็กได้อย่าง่ายดาย
2. สังเกตว่าลูกชอบหรือสนใจสิ่งใดหรือเรื่องใดเป็นพิเศษ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับการอ่าน โดยหาหนังสือที่มีเรื่องราวหรือสิ่งของที่ลูกชอบมาให้ นอกจากความประทับใจแล้ว ยังอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้อีกทาง
3. สอดแทรกการอ่านเข้ากับกิจวัตรประจำวัน เช่น การชี้ชวนให้ลูกอ่านป้าย ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ กระทั่งเมนูอาหาร ขณะที่ออกไปทานข้าวนอกบ้านก็ยังได้
4. บรรยากาศแห่งการอ่านสร้างได้ โดยเลือกมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน จัดเป็นมุมหนังสือ มีหนังสือหลากหลายแบบให้ลูกเลือกอ่านหรือเพื่อให้คุณอ่านให้ฟัง ซึ่งควรวางอยู่ในที่ที่ลูกเห็นและสามารถหยิบเองได้ เป็นอีกมุมกิจกรรมที่ควรมีเก้าอี้หรือโซฟานั่งสบายสำหรับเอนหลังชวนกันอ่าน
5. การพาลูกไปเลือกซื้อหนังสือเล่มโปรดด้วยตัวเอง เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สร้างการมีส่วนร่วม และเข้ากับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง นอกจากร้านหนังสือแล้ว อาจพาลูกเข้าห้องสมุดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อซึมซับบรรยากาศแห่งการอ่าน
6. อ่านผ่านการเล่น นี่เป็นอีกวิธีที่ได้ทั้งความสนุกและการเรียนรู้ อาจะเป็นการทายคำ หาคำจากภาพ หรือจับคู่คำกับภาพที่เห็นก็ได้ โดยเป็นคำง่ายๆ ที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน (ที่มา : momypedia.com)
เข้าชม : 2111
|