3 ทูตแห่งการอ่าน กับภารกิจเพื่อชาติ
Interviews with 3 reading ambassadors on their national duties, point of views on reading: V Vachiramethi, Woody Milintachinda, Pantadon Gliengjan.
ว่ากันว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 8 บรรทัดต่อปี
ในขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2548 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 1.59 ชั่วโมง โดยมีอัตราการอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อคนต่อปี
สี่ปีหลังจากนั้น สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยปี 2552" และพบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 94 นาทีต่อวัน ซึ่งหมายถึงว่าคนไทยกำลังอ่านหนังสือน้อยลงทุกทีๆ
ด้วยเหตุนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันจึงจัดตั้งโครงการ Bangkok – World Book Capital 2013 ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดแรก เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า ชาวกรุงเทพฯ มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้กลายเป็นมหานครแห่งการอ่านได้ภายในปี 2556 และคาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นดินแดนแห่งการอ่านในอนาคต
แต่ก่อนที่จะมานั่งวิจารณ์กันว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ 3 ทูตการอ่านคนสำคัญจากโครงการ Bangkok – World Book Capital Bid 2013 มีสิ่งดีๆ ที่อยากจะบอก
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
“การอ่านที่ดีเป็นการอ่านที่ไม่เชื่อสิ่งที่อ่านไปเสียทั้งหมด แต่ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณาจนกระทั่งมีปัญญาเป็นของตนเอง”
*อยากให้พระอาจารย์ช่วยเล่าถึงที่มาของโครงการนี้สักเล็กน้อยครับ
โครงการรณรงค์ให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่านของโลกในปี 2013 นั้น เริ่มมาจากผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นบรรยากาศการอ่านและการเขียนของประเทศไทยให้คึกคัก ถึงขนาดลงลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรม โครงการนี้มีแนวทางการทำงานหลักอยู่ 3 ประการคือ
หนึ่ง จุดประกาย กระตุ้นให้เกิดการตื่นรู้ร่วมกันในระดับสังคมว่าการอ่านเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือที่ในการสร้างคน เมื่อเราจุดประกายการตื่นรู้ร่วมกันได้สำเร็จ ก็ถือว่าเราเดินมาถูกทาง
สอง ขยายพื้นที่ ช่วยกันรณรงค์เปิดพื้นที่ให้คนไทยทั้งประเทศมีช่องทางศึกษาหาความรู้ทั้งแบบที่เป็นทางการและตามอัธยาศัย เช่น ตามห้องสมุด ร้านหนังสือ ป้ายรถเมล์ ในโทรทัศน์ หรือใน Social Network ต่างๆ ให้มากที่สุด เหมือนเรามีเมล็ดพันธุ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการรักการอ่านกระจายอยู่ทั่วไปหมด
สาม ส่งเสริมให้เด่นดีจนเป็นวัฒนธรรม วันหนึ่งเราคงจะเห็นคนไทยยืนรอรถเมล์แล้วถือกระเป๋ามือหนึ่งอีกมือหนึ่งถือหนังสือ หรือถ้านั่งคุยกันอยู่ในสวนสาธารณะ ในกระเป๋าอาจมีหนังสือส่วนตัวสัก 2-3 เล่ม เมื่อใดที่เราทำให้การอ่านกลายเป็นวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเช่นนี้ กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครแห่งการอ่านของโลก
เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นมหานครแห่งการอ่านของโลกและได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ซึ่งพระอาจารย์เชื่อมั่นว่าการลงแรงครั้งนี้ไม่สูญเปล่า เพราะไม่ว่ายูเนสโกจะยอมรับหรือไม่ ผลที่จะได้คือเมืองไทยให้ความสำคัญกับการอ่านเขียนเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นหลักไมล์สำคัญในการพัฒนาคุณภาพคน
*พระอาจารย์มองว่าเมืองไทยในวันนี้ก้าวมาจากจุดที่คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปีแล้วหรือยังครับ
ณ เวลานี้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับประมาณ 10 ปีที่แล้ว แนวโน้มก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นพระอาจารย์คิดว่าเมื่อเรามาถูกทางก็ควรขยายประเด็น เพิ่มพื้นที่และรณรงค์ให้เกิดบรรยากาศการอ่านเพิ่มขึ้นๆ แม้ว่ายูเนสโกอาจไม่ยอมรับ แต่เราก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิมแล้ว
*แล้วพระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับวัฒนธรรมการอ่านผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น iPad E-book
พระอาจารย์คิดว่าหัวใจสำคัญของการอ่านคือ การที่คุณเห็นว่าการอ่านเป็นสิ่งสำคัญ และได้รับประโยชน์จากการอ่านนั้นๆ การรักการอ่านเป็นเรื่องของจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องของวัสดุ ควรแยกจากกัน เพราะโลกไม่หมุนกลับหลัง วันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีมาถึงเรา โลกการอ่านก็ย่อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน เมื่อคุณหลงรักการอ่าน ไม่ว่าวัสดุที่ใช้อ่านจะเป็นอินเทอร์เน็ต สมุดข่อย หรือ iPad ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป
นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างคือท่าทีการเสพสื่อของเราเพราะหากเสพไม่เป็นก็จะด่าทุกสื่อ ละครโทรทัศน์ที่เลวและข่าวเน่าๆ ก็ให้ข้อคิดที่ดีและให้สติปัญญาได้ ถ้าเราวางท่าทีการบริโภคข่าวสารข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ จับเนื้อหาสาระจากสิ่งที่อ่านให้ได้และได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น จนกลายเป็นคนมีความคิดความอ่านเป็นของตนเองก็ถือเป็นใช้ได้
*ถ้าหากว่าพระอาจารย์จะปลีกวิเวกไปธุดงค์จะพกหนังสือเล่มใดไปหรือครับ
พระอาจารย์เคยไปปักกลดในป่า 1 เดือน ตอนนั้นพกหนังสือพุทธธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นเล่มเดียวที่อ่านไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ส่งผลให้เรามีความแม่นยำทางพระคัมภีร์และได้มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติด้วย เหมือนการเข้าป่าพร้อมแผนที่ในมือ เป็นประสบการณ์ที่ดีและงดงามมาก
ในขณะเดียวกันพระอาจารย์ก็เคยไปอยู่ป่าเป็นเดือนๆ โดยไม่มีตำราเลยแม้แต่เล่มเดียว ณ เวลานั้นพระอาจารย์ไม่ได้อ่านหนังสือแต่พระอาจารย์อ่านใจตนเอง พระอาจารย์ทดลองมาทั้ง 2 แบบโดยแบ่งเป็นช่วงและเชื่อมั่นว่าการกระทำทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเดินทางโดยมีแผนที่จะทำให้เราไม่หลง ลัดสั้น ตรงประเด็น ส่วนการเดินทางโดยไม่พกแผนที่จะให้ประสบการณ์ที่ดื่มด่ำลึกซึ้ง แต่อาจทำให้เราไม่มั่นใจว่าหลงทางอยู่หรือเปล่า
*อยากให้พระอาจารย์ช่วยกรุณาแนะนำเยาวชนเรื่องการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยครับ
พระอาจารย์อยากบอกว่าอย่าเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่านพบโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้จนพอเพียง เพราะบางครั้งสิ่งที่เราอ่านอาจมีวาระซ่อนเร้นของมันอยู่ เช่นที่เจ้าชายน้อย พูดว่า “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”ไม่ได้หมายถึงตาเนื้อ แต่ความหมายของประโยคนี้คือไม่อยากให้เราวินิจฉัยคนจากบุคลิกภาพภายนอก ให้รู้จักใช้วิจารณญาณโดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ ดังนั้นการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ หลักง่ายๆ ก็คืออย่าเชื่อทุกสิ่งที่อ่าน แต่จงคิดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วค่อยเชื่ออย่างมีเหตุผล ให้ถือหลักว่าไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้ การอ่านเป็นช่องทางให้คิดอย่างเป็นระบบ มีวิจารณญาณ มีจินตนาการ มีหลักการ และถ้าให้ดีกว่านั้น อ่านเจออะไรแล้วไม่ชอบให้เถียงเลย อ่านไปถกเถียงไป ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไป เปรียบเทียบจากฐานข้อมูลอื่นๆ เพิ่มขึ้นๆ แล้ววันหนึ่งก็จะมีวิจารณญาณเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ
พระอาจารย์เชื่อมั่นว่า นอกจากการอ่าน คนรู้จักคิดได้จากการตั้งคำถาม การสังเกต การฟังอย่างพิเคราะห์ จากประสบการณ์ตรงของเขาเอง เขาจะมีพุทธิปัญญาหรือศักยภาพในการคิดเพิ่มขึ้น เพียงแต่การอ่านเป็นตัวกระตุ้นให้คิดที่ง่ายที่สุด เพราะเมื่อเราบรรจุข้อมูลชุดหนึ่งเข้าไปในหัว ตัวข้อมูลชุดนั้นจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการทางการคิดทันที
การอ่านที่ดีจึงเป็นการอ่านที่ไม่เชื่อสิ่งที่อ่านไปเสียทั้งหมด แต่ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณาจนกระทั่งมีปัญญาเป็นของตนเอง การอ่านต้องทำให้เกิดความคิด เราจึงเรียกคนที่อ่านหนังสือเยอะๆ ว่าเป็นคนมีความคิดความอ่าน เวลาเรากำลังอ่านงานของคนอื่นเท่ากับเรากำลังอ่านความคิดของเขา หากเราคิดได้จากการอ่านงานของเขา ก็ถือว่าเรามีความอ่านแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะมีข้อเขียนของตนเอง ผ่านปลายปากกาหรือผ่านข้อคิดความเห็นของเราในแบบที่เป็นตัวของเราเอง นั่นแหละถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการอ่าน แล้วเพราะ...
วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอ่านก็คือ เพื่อให้มีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง
วุฒิธร มิลินทจินดา (วู้ดดี้)
“ผมมั่นใจว่าใครที่กระโดดเข้าไปในบ่อหนังสือ แล้วเริ่มอ่าน อนาคตจะไปได้ไกล”
*คุณวู้ดดี้เข้ามาร่วมในโครงการนี้ได้อย่างไร
เริ่มจากผมสนิทและนับถือ ท่าน ว. มากครับ พอท่านชวนให้มาเข้าโครงการนี้ ผมก็สนใจทันที
*คุณเป็นคนรักการอ่านเป็นทุนอยู่แล้วหรือเปล่าครับ
คือผมเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องสมาธิ หรือถ้าต้องตั้งใจจดจ่อกับอะไรบางอย่าง เพราะผมทำหลายๆ อย่างในแต่ละวัน แต่สิ่งที่เติมเต็มได้ก็คือการอ่าน ช่วงระหว่างรายการหนึ่งไปอีกรายการหนึ่ง ผมมักจะ "อ่าน" ซึ่ง “อ่าน” ที่ว่านี่ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเสมอไป อาจจะเป็นอินเตอร์เน็ตบ้าง เอกสารบ้าง แต่ถ้าพูดถึงหนังสือ สมัยก่อนวู้ดดี้อ่านหนังสือไม่จบเลยซักกะเล่ม อ่านได้แค่ 10 หน้าก็เบื่อแล้ว ถ้าใครเป็นเหมือนผมทางออกคือ คุณก็หาหัวข้อหรือเรื่องราวที่อยากอ่านสิ ปัญหาของหลายๆ คนก็คือ เขามักจะอ่านหนังสือที่เขาไม่สนใจ ดังนั้นแทนที่พออ่านจบเป็นเล่มๆ จะรู้สึกภูมิใจว่าได้ความรู้มากมาย กลับกลายว่าคุณไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นคำแนะนำของผมคือ ถ้าอ่านไป 5 หน้าแล้วคุณไม่ชอบ คุณวางเลย แล้วไปหาหนังสือเล่มใหม่
*หนังสืออันดับแรกๆ ที่คุณเลือกอ่านคืออะไร
ตอนเปิดบริษัทผมก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเยอะ เพราะเราพลิกบทบาทจากการเป็นผู้อยู่เบื้องหน้ามาอยู่เบื้องหลัง มาเปิดบริษัท แล้วเรามีคำถามมากมาย ซึ่งการอ่านก็เหมือนว่าได้เข้าห้องเรียน แล้วด้วยความที่เรามีความสนใจในเรื่องนี้ ทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งอิน ผมจึงขอแนะนำว่า ถ้าคุณสนใจอะไรคุณก็หาเรื่องนั้นมาอ่าน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเห็นเด็กอ่านนวนิยายเยอะ เพราะมันตรงกับความสนใจของเขา
ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่อ่านหนังสือ มันเติมเต็มชีวิตของผม ผมไม่เคยเจอใครที่ชอบอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าตัวเองโง่ลงนะ ผมว่าที่ท่าน ว. มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะหนังสือ ไม่ใช่ว่าท่านเกิดมาเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครที่เกิดมาเพื่ออะไรทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับคุณถูกล้อมรอบด้วยอะไร ผมมั่นใจว่าใครที่กระโดดเข้าไปในบ่อหนังสือ แล้วเริ่มอ่านนี่อนาคตจะไปได้ไกล...ถ้าวู้ดดี้มีเวลาอ่านมากกว่านี้ คงจะไปไกลมากเลย แต่ตอนเด็กๆ เราไม่ได้ค้นพบตรงนี้
*แล้วตอนเด็กๆ คุณค้นพบอะไรมาก่อน
ผมโตมากับเกม ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากจะอ่านหนังสือให้มากกว่านี้ แล้วทางแก้คืออะไร ก็แบ่งเวลาไง พ่อแม่อย่าไปห้าม แค่แบ่งเวลาให้ชัดเจนว่า ลูกเล่นเกมได้ตอน 6 โมง- 1 ทุ่ม แล้วคนเหล่านี้ก็จะมีวินัยในการใช้ชีวิต คนที่ไม่มีวินัยคือนคนซึ่งโตขึ้นโดยไม่มีการแบ่งเวลาอย่างชัดเจน มั่วไปเรื่อย โตมาก็ไม่มีกรอบ
*ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์คุณดูเป็นคนนอกกรอบนะครับ
ผมเป็นคนสุดขอบ แต่ไม่หลุดกรอบครับ ผมมีกรอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพียงแต่ผมคิดว่าการยืนตรงกลางกรอบมันไม่สนุก ไปให้สุดจะท้าทายกว่า รวมถึงการทำงาน สมัยก่อนนะ ไม่ว่าผมเสนอรายการแบบไหนไปก็ตาม ผู้ใหญ่จะบอกว่าไม่ดี แต่สุดท้าย ผมก็เห็นมันเวิร์คหมดน่ะ แล้วมาถึงตอนนี้ ผมบอกตัวเองตลอดว่าเราต้องให้โอกาสกับทุกคน จะไม่บอกเด็กหรือลูกน้องอย่างนั้นเด็ดขาด เราต้องฟังให้จบ แล้วค่อยแสดงความคิดเห็นของเรา ในขณะเดียวกันผมก็เชื่อมาตลอดว่ามนุษย์เราจะพีคตอนอายุ 25 ตอนนี้ผม 30 กว่าแล้ว สมองมันเสื่อมลงนะ นี่คือข้อมูลที่ได้จากการอ่านไง ถ้าไม่อ่านไม่รู้นะนี่
*แต่ถึงอย่างนั้น คุณก็ยังดูสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษไหมครับ
อ่านไง ไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือ อ่านจากอินเตอร์เน็ต อ่านข่าว ไปจนถึงการได้เจอเรื่องที่จุดประกายอยู่เสมอ อย่างการได้คุยกับคนที่ใช่ หรือการไปดูนี่ดูนั่น ทั้งหมดถือเป็นการจุดประกายให้เราอยากทำทุกอย่างเลย วันไหนผมตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่อยากทำอะไร วันนั้นพัง ผมจึงต้องให้แรงบันดาลใจตัวเองตลอด
*สิ่งที่คุณคิดว่าได้รับจากการทำงานมาจนถึงวันนี้คืออะไร
สิ่งที่ผมพบจากการทำงานมานานก็คือ การมีรายการเยอะไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะคุณภาพอาจจะตก คนที่อยากมีรายการเยอะ อาจเป็นเพราะว่าเขาอยากรวย แต่ผมค้นพบแล้วว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง พอคิดได้อย่างนี้ เราก็จะไม่โลภ ถามว่าเงินซื้อความสุขได้ไหม ไม่ได้จริงๆ นะ ต่อให้ได้ขับรถแพงๆ นั่นก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ในขณะที่การคุยกับ ท่าน ว. คือความสุขที่แท้จริงของผม เช่นเดียวกับการได้อยู่กับพ่อแม่ ความสุขแบบนี้มันยั่งยืนกว่า เป็นสุขเต็มใจ ผมได้อ่านทฤษฎีความสุขมามาก แล้วพอมาเปรียบเทียบดูระหว่างความสุขแบบต่างๆ ก็คิดว่าเป็นเรื่องจริง นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำว่าผมได้อะไรมากมายจากการอ่าน
*หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณอ่านค้างอยู่คือเล่มไหน
59 Seconds: Think a Little, Change a Lot เป็นหนังสือที่น่ารักมาก คนเขียน (Richard Wiseman) เขาเล่าเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ ให้คุณเข้าใจใน 59 วินาที ดีมากๆ ครับ จนผมอยากจะแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำ
*คิดว่ามีมุมไหนที่คนยังน่าจะเข้าใจผิดหรือไม่รู้ในตัววู้ดดี้อีกบ้าง
ผมเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกคนอื่นมากเกินไป แล้วก็เวลาผมอินเรื่องไหนผมก็จะอินกับเรื่องนั้นมากๆ อยู่ได้ทั้งวัน ผมเป็นคนแบบนั้น (นิ่งคิด) แล้วก็เรื่องธรรมะมั้ง ผมไม่ได้อินกับพุทธศาสนาหรือการนั่งสมาธินะครับ แต่หลักการหลายๆ อย่างในชีวิตผมได้มาจากธรรมะโดยไม่รู้ตัว ผ่านประสบการณ์ต่างๆ เช่น เราใจร้อน ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ต้องใจร้อนสิ ใจก็เย็นลง นั่นเป็นสิ่งที่ผมทำเอง แล้วพอได้คุยกับพระ ผมถึงได้ค้นพบและให้นิยามสิ่งที่เราทำทั้งหมดว่า อยู่ในกรอบของคำว่า “ธรรมะ” กับ “ธรรมชาติ” นั่นเอง
*คุณระบุศาสนาในบัตรประชาชนว่าอะไรหรือครับ
ในนั้นก็เขียนว่า “พุทธ” นะครับ แต่จริงๆ แล้วผมก็นับถือหลายๆ คน หลายๆ ศาสนา แต่บางทีผมก็ไม่อยากเอาตัวเองไปยึดติดกับอะไร ผมสามารถเข้าวัดไหว้พระได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ทำไมผมจะอ่านอัลกุรอานไม่ได้ ทำไมผมจะเข้าโบสถ์ไม่ได้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่สวยงาม ผมอยากบอกว่า ตัวเองเป็นชาวศาสนาโลกมากกว่า เพราะผมเชื่อในสิ่งที่ดี แล้วแต่ละคนที่ผมเจอก็มีหลักการความคิดที่ต่างกันออกไป ผมพูดได้ว่าธรรมะนำชีวิตผม เพียงแต่ผมไม่อยากพูดว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็เท่านั้นเอง
*คติในการใช้ชีวิตของคุณวู้ดดี้ในวันนี้คืออะไร
“สุดขอบ แต่ไม่หลุดกรอบ” นี่ละครับ คือจุดยืนของผม ทุกคนต้องมีสโลแกนในชีวิต สโลแกนคือจุดยืนในชีวิต แล้วคุณจะสามารถเดินได้โดยที่มีฐาน มีสิ่งให้ยึดเหนี่ยว เวลาจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราต้องถามตัวเองว่าจุดยืนของตัวเองคืออะไร ผมอยากให้ทุกคนหาสโลแกนให้ตัวเอง และนั่นแหละคือตัวตนของคุณ แต่ไม่ใช่ว่า “ฉันจะโกงไปจนวันตายนะ” นั่นไม่ใช่สโลแกนที่ดี ต้องเป็นสโลแกนที่ถูกต้อง และไม่ผิดกฎหมาย
เด็กชายพัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ (น้องเดียว)
“เราเปิดหนังสือเพียงเล่มเดียวเหมือนเราได้เปิดโลกทั้งโลก”
*น้องเดียวมีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้ครับ แล้วได้ความรักในเรื่องการอ่านมาจากใคร
ผมดีใจมากที่เห็นผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือมากขึ้น ผมได้ความรักในเรื่องนี้
ทั้งจากคุณพ่อ (ไพศาล เกลี้ยงจันทร์) และคุณแม่ (ศิริพร สิทธิฤทัย) ครับ ตั้งแต่ตอนเด็กๆ พ่อจะชอบอ่านหนังสือให้ผมกับน้องฟัง เวลาพาไปเดินห้างสรรพสินค้า พ่อจะให้เราหยิบนม แล้วพ่อก็จะอ่านฉลากให้ฟัง พอโตขึ้นผมก็สามารถอ่านป้ายบอกทางได้ ส่วนคุณแม่ก็เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว
การจะทำให้รักการอ่านได้ผมว่า หนึ่ง ต้องเริ่มที่การปลูกฝังจิตสำนึก เริ่มตั้งแต่คนในบ้าน เช่น พ่อแม่ต้องรู้จักอ่านหนังสือให้ลูกฟัง สอง ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการอ่านหนังสือ เพื่อสายตาจะได้ไม่เสีย สามจะต้องให้ทั่วถึง เช่น จัดโครงการเกี่ยวกับการอ่าน หรือสร้างห้องสมุดให้ทั่วถึง อย่างบ้านผมจะมีหนังสืออยู่ทุกที่ สี่ ผู้ผลิตควรจัดทำหนังสือให้มีสีสันสดใส และมีสาระที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ห้าเรื่องราคาหนังสือ ผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีราคาหนังสือที่เหมาะสม พ่อแม่จะได้สามารถซื้อไปให้ลูกๆอ่าน ได้
นอกจากนั้นผมคิดว่าคนที่โตๆ แล้ว ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กๆ รู้สึกรักการอ่านตามไปด้วย ส่วนมากผู้ใหญ่จะชอบดูละครในบ้าน เด็กก็จะซึมซับไปด้วย ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าผู้ใหญ่สามารถสร้างละครที่ดึงดูดคนให้นั่งหน้าจอทีวีนานๆ ได้ แล้วทำไมไม่ทำให้เด็กหรือทุกคนหันมาติดการอ่านเหมือนติดทีวีบ้าง
*แล้วบ้านน้องเดียวชอบดูละครไหมครับ
ที่บ้านไม่ค่อยได้ดูละคร ส่วนใหญ่จะเน้นอ่านหนังสือมากกว่า อย่างน้องผมก็ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เด็กๆ เพราะโรงเรียนสาธิตมศว.จะให้เด็กแต่ละคนนำหนังสือมาแชร์กันในห้อง แบ่งปันกันหยิบยืมกันอ่านได้ พอโตขึ้นมาหน่อย ผมก็ชอบเข้าห้องสมุดของโรงเรียน ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมหนังสือที่สุดยอด ผมอยากให้มีห้องสมุดย่อยๆ ที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะมีหนังสือวางไว้ให้อ่าน เป็นหนังสือสำหรับทุกคนและมีทุกๆ แนว การอ่านหนังสือคือการเปิดโลกกว้าง เสริมจินตนาการและสร้างแรงบันดาลใจ เราเปิดหนังสือเพียงเล่มเดียวเหมือนเราได้เปิดโลกทั้งโลก อะไรที่เราไม่รู้เราก็จะได้รู้ อะไรที่เราไม่เห็นก็จะได้เห็นผ่านโลกของหนังสือครับ
*น้องเดียวชอบอ่านหนังสือประเภทไหน
ผมชอบอ่านทุกประเภทเลยครับ เพราะแต่ละประเภทก็จะมีคติเตือนใจที่แตกต่างกัน อย่างหนังสือของพระอาจารย์ ว. เรื่อง Hero คนโดนใจ เป็นหนังสือชีวประวัติบุคคลต่างๆ ที่แต่ละคนจะมีความคิดและแง่คิดที่แตกต่างกัน ซึ่งการดำเนินชีวิตของพวกเขาช่วยสอนเราได้ หนังสือเล่มนี้สนุกและให้แง่คิดกับเรามากๆ ครับ ทำให้ได้รู้จักกับบุคคลสำคัญๆ เช่นมหาตมะคานธี, Nelson Mandela, พระเจ้าอโศก และ Steve Jobs รวมทั้งเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางเราว่า เมื่อเราเห็นสิ่งที่เขาเคยผิดพลาดมาเราก็จะไม่ทำแบบเขา
*หากเทียบหนังสือกับการ์ตูน จะอ่านแบบไหนเยอะกว่ากัน
ผมก็อ่านคละๆ กันไปทั้งหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือแล้วก็ที่มีภาพประกอบ หนังสือที่มีภาพจะช่วยให้เราอ่านง่ายและสบายตาขึ้น เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลามาก แต่ถ้ามีเวลา ก็ควรอ่านแต่หนังสือที่มีตัวหนังสือจะดีกว่าเพราะจะได้เนื้อหาเยอะกว่า แต่ทั้งสองอย่างก็ช่วยเสริมจินตนาการทั้งนั้น อย่างน้องสาวของผมจะเลือกอ่านหนังสือที่มีรูปภาพประกอบเพื่อช่วยเสริมจินตนาการ รวมทั้งทำให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้นครับ
*น้องเดียวมีงานอดิเรกอะไรที่ชอบทำบ้างครับ
นอกจากอ่านหนังสือแล้วผมก็ชอบนั่งสมาธิครับ เพราะการนั่งสมาธิช่วยให้จิตใจเราสงบ ทำให้มีสติ เวลาทำอะไรเราจะมีสมาธิกับสิ่งนั้นมากขึ้น ผมเพิ่งไปบวชมาครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว (2553) ถึงตอนนี้ก็ยังอยากบวชต่อ เพราะการบวชช่วยพัฒนาเราในทุกๆ ด้าน ทั้งจิตใจ ร่างกายและได้รู้ธรรมะมากขึ้นด้วยครับ
*ได้อ่านหนังสือธรรมะบ้างหรือเปล่าครับ
มีเหมือนกันครับ อย่างหนังสือของหลวงพ่อชา แม่ผมก็อ่านอยู่ หรือวันนี้ที่มาหอจดหมายเหตุของท่านพุทธทาส แม่ก็ซื้อหนังสือของท่านมา ผมก็อยากลองอ่านดูบ้าง เพราะผมคิดว่าหนังสือแต่ละเล่มก็จะมีความสนุกและข้อคิดที่แตกต่างกันไป เราเพียงอ่านและจับใจความให้ได้ อ่านแค่วันละ 2-3 หน้าก็ได้ แค่นั้นก็สนุกแล้ว
*น้องเดียวพูดถึงน้องสาวอยู่บ่อยๆ เล่าเรื่องน้องให้ฟังบ้างสิครับ
น้องสาวผมชื่อดิว (ด.ญ.พิมพ์ลดา เกลี้ยงจันทร์) ครับ เพิ่งอายุ 6 ขวบ ยังมีความเป็นเด็ก แล้วก็ซน ดิวเป็นเด็กที่คิดเก่ง ชอบวาดรูป และชอบซักถาม เช่น น้องจะถามว่าทำไม 1+1 จะต้องได้ 2 เท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ ที่ทำให้คนในครอบครัวหันกลับมาคิดว่า เป็นเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
*ถ้าต้องให้ของขวัญเป็นหนังสือ น้องเดียวจะให้เล่มไหนกับน้องดิวครับ
หนังสือธรรมะครับ เพราะอยากให้น้องได้รู้ว่าการใช้ชีวิตในโลกนั้นต้องมีธรรมะแฝงอยู่ อยากให้เขาได้รู้ธรรมะตั้งแต่เด็กๆ จะได้เป็นคนที่รักธรรมะและชอบวัด เด็กเดี๋ยวนี้ห่างไกลวัดมากเลย ถ้าให้หนังสือธรรมะเป็นของขวัญ ก็จะได้เป็นการปลูกฝังการรักการอ่านและรักธรรมะไปพร้อมๆ กันครับ
ทั้งหมดนี้คือทัศนะที่น่าสนใจจากทูตแห่งการอ่านทั้งสาม ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ยุคสมัยแห่งการอ่านของคนไทยได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ทว่าเฉกเช่นกฎที่ว่าทุกสิ่งมี "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป" ดังนั้นแม้ว่าโครงการ Bangkok – World Book Capital Bid 2013 จะเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลย หากขาดความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนที่จะเริ่มหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน และส่งต่อความรักในการอ่านไปสู่คนรอบข้าง
หากเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อไร ยุคสมัยแห่งการอ่านของไทยก็จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ดับสูญไปอย่างง่ายดาย ดังที่ใครๆ พากันหวั่นกลัว
ขอบคุณข้อมูล : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 77 (10 กันยายน 54)
คอลัมน์ Secret of Life
เรื่อง พีรภัทร โพธิสารัตนะ
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
ที่มา : http://www.bangkokreadforlife.com/index.php/articles/8-articles/214-3-
เข้าชม : 1060
|