การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยของเราในรอบหลายปีที่ผ่าน มานี้ มีการนำเอาทัศนคติ ความคิด ความเชื่อส่วนบุคคล มาปลอมปนลงไปในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็อ้างว่า นั่นเป็น คำสอนของพระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อมากมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งแก่ตน แก่สังคม และแก่สถาบันศาสนา การปล่อยให้สภาพเช่นนี้ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อวิถีชีวิตของบุคคล สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว ดังนั้น เราจึงควรร่วมมือกัน นำเสนอพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ให้คนไทยได้รู้จักกันอย่างทั่ว ถึง เพื่อร่วมกัน สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทรุดไปมากกว่านี้ และขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยกันฟื้นฟูเนื้อหาสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมา สู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
การศึกษาให้รู้อย่างถูกต้องถ่องแท้ว่า พระพุทธศาสนาที่แท้ มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร คือ วิธีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุนั้น ในบทความนี้ จึงขอแนะนำหนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่านเป็นเบื้องต้น 5 เรื่อง ซึ่งหนังสือทุกเล่ม สามารถหาซื้อตามร้านหนังสือชั้นนำ หรือตามห้องสมุดทั่วไป ดังต่อไปนี้
1. พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ที่ประมวลหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้อย่างเป็นระบบ ครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด จนถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎกเองมีสถานะเป็นดังหนึ่งองค์ พระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทั้งนี้ เพราะก่อนแต่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว พระธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติเอาไว้ จักเป็นศาสดาของชาวพุทธ สืบต่อไป”
คัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่เราชาวพุทธสามารถศึกษา ค้นคว้าหาแก่นธรรมด้วยตัวเองได้ทุกเมื่อ สงสัยเรื่องใด ก็สามารถเปิดขึ้นมาศึกษาหาความกระจ่างแจ้งได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องผ่านการตี ความหรืออธิบายของผู้อื่น การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยตรงจากคัมภีร์พระไตรปิฎก จึงเป็นวิธีเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุด ทั้งยังสามารถป้องกันความเข้าใจผิด วิปลาต คลาดเคลื่อนจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน
2. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นแหล่งประมวลพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอน ที่สมบูรณ์ที่สุดของพระพุทธเจ้านั้น เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวพุทธว่า มีเนื้อหามากเป็นอเนกอนันต์ หากไม่มีความสนใจใฝ่รู้จริงๆ แล้ว ก็เป็นการยากที่คนธรรมดาจะศึกษาให้ทั่วถึงได้ ด้วยเหตุที่พระไตรปิฎกมีเนื้อหามากนี่เอง อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (เปรียญธรรม 9 ประโยคที่มีชื่อเสียงมากที่สุดร่วมยุคกับท่านพุทธทาสภิกขุ) ซึ่งมีความปรารถนาที่จะให้ชาวพุทธได้เรียนรู้ธรรมะจากพระไตรปิฎกโดยตรง จึงได้ใช้ความเพียรอย่างยิ่งยวดจัดทำพระไตรปิฎก “ฉบับสำหรับประชาชน” โดยย่อพระไตรปิฎกจาก 45 เล่ม ให้เหลือเพียง 1 เล่ม และนับแต่นั้นเป็นต้นมา คนไทยจึงได้อ่านพระไตรปิฎกที่เนื้อหาน้อยลง แต่ทว่ากลับยังคงอุดมด้วยแก่นสารอย่างครบถ้วนเหมือนเดิม ทั้งภาษาก็อ่านง่าย ไพเราะ ใครก็ตามที่อยากศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกโดยตรง แต่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อเนื้อหาอันมากมายมหาศาล การเริ่มต้นอ่านพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน จึงนับว่า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
3. คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา
ในวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต-วาสิฏฐี” ตัวเอกของเรื่อง คือ กามนิต มีความปรารถนาจะเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อรับฟังคำ สอนสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ครั้นได้พบพระพุทธองค์จริงๆ เขากลับไม่รู้จักว่า คนที่อยู่ตรงหน้าเป็นใคร ในที่สุดก็จึงเดินจากไปอย่างผิดหวัง ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็คงไม่ต่างอะไรกับกามนิตหนุ่ม ที่บอกตัวเองว่า เป็นชาวพุทธ แต่ทว่าไม่รู้จัก “โฉมหน้าอันแท้จริง” ของพุทธศาสนา ผลก็คือ เขาได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย
ในหนังสือชื่อ “คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา” อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ปราชญ์ผู้เป็นเลิศทางด้านพระพุทธศาสนา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่แท้นั้น มีลักษณะเช่นไร มีจุดเด่น จุดเน้น จุดหมายอยู่ตรงไหน และจะนำเอาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้ จะทำให้เรารู้จักพระพุทธศาสนาในภาพรวมถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า เหมือนกับเรารู้จักลายมือของตัวเองอย่างละเอียดเลยทีเดียว
4. หลักชาวพุทธ (ชาวพุทธที่ดีต้องมีมาตรฐาน)
ใน ทางสถิติ เราทราบกันดีว่า มีคนไทยกว่า 95% เป็นชาวพุทธ แต่ในทางปฏิบัติ จะมีคนที่เป็นชาวพุทธจริงๆ กันสักกี่เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ สังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่พอเกิดมีปัญหาอะไรที่ หนักหนาสาหัสเกิดขึ้นมาจนทำท่าว่าจะแก้ไขกันไม่ได้ คนไทยไม่น้อยก็มักเลือกที่จะกล่าวโทษพุทธศาสนา เช่น เรามักได้ยินคำอุทานด้วยความสิ้นหวังเชิงประ ชดประเทียดอยู่บ่อยๆ ว่า “นี่หรือเมืองพุทธ…” หรือบางทีก็ ตั้งข้อสังเกตกันแรงๆ ว่า “เป็นเมืองพุทธ ทำไมจึงทรุดลง” การที่ชาวพุทธจำนวนมาก กล่าวโทษพุทธศาสนาเช่นนี้ ก็เป็นเพราะว่า เขาเหล่านั้น ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่ได้นำเอาพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า การเป็นชาวพุทธนั้น ต้องมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง
เพื่อแก้ปัญหาชาวพุทธด้อยคุณภาพดังกล่าวมานี้เอง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงเรียบเรียงหนังสือ “หลักชาวพุทธ” ขึ้นมาให้เป็นแนวทางสำหรับยึดเป็นหลักแม่บทในการปฏิบัติตนของชาวพุทธ 12 ข้อ ซึ่งเมื่อใครก็ตาม ปฏิบัติตามหลักแม่บทของการเป็นชาวพุทธทั้ง 12 ข้อได้เป็นอย่างดี คนๆ นั้น ก็จะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธชั้นนำ และย่อมจะได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างคุ้มค่าที่สุด
5. เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
ปัญหา ประการหนึ่งที่มีการเชื่อผิด รู้ผิด สอนผิดกันมากที่สุดในสังคมไทยก็คือ ความเชื่อเรื่องกรรม หรือกฎแห่งกรรม ที่มีการเข้าใจวิปลาตคลาดเคลื่อนกันไปไกลถึงขนาด ที่เรียกได้ว่า “ออกทะเล” ก็คงได้ แต่ถึงจะมีการเชื่อผิด สอนผิดอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้น ก็มีผู้ที่รู้เท่าทันน้อยมาก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ถูกต้อง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงเขียนหนังสือชื่อ “เชื่อกรรม รู้กรรม แก้รรม” ออกมาเผยแผ่แก่ประชาชนทั่วไป
ใครก็ตามที่อยากรู้ว่า หลักกรรมตามแนวพุทธเป็นอย่างไร หรืออยากรู้ว่า การแก้กรรมตามแนวพุทธต้องทำอย่างไร หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ความสงสัยดังกล่าวจะได้รับการอธิบายอย่างแจ่มกระจ่างและจะไม่ตกเป็นเหยื่อ ของลัทธิกรรมพาณิชย์อีกต่อไป
ที่มา:http://www.bookandreading.com
เข้าชม : 1313
|