"หญิงสาววัยกลางคนส่งภาษามือให้แก่ลูกน้อย พร้อมกับกางหนังสือที่มีรูปภาพสวยงามออกมาอ่านพร้อมกันกับลูกรัก ไม่มีเสียงพูดออกจากปากของหญิงสาววัยกลางคนรายนี้ หากเสียงที่เปล่งออกจากปากลูกของเธอนั้น เป็นเสียงที่เธอไม่ได้ยินด้วยหู แต่ใจเธอรับรู้และสัมผัสได้ รอยยิ้มที่แสดงออกทางสีหน้าของเธอเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ที่เปล่งประกายประดับครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้"กรณีของครอบครัวที่ทั้งแม่และพ่อต่างก็เป็นใบ้ แต่สามารถสอนให้ลูกอ่านหนังสือได้ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนบ้านรอบข้างที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ เกิดขึ้นที่ ต.น้ำคำ จ.ยโสธร ถูกนำมาหยิบยกเป็นกรณีตัวอย่างของพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นกับผู้คนในชุมชน ภายในเวทีประชุมเวทีสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านชุมชนท้องถิ่นกับงานส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาสมองและพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งจัดขึ้นโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร
นอกจากกรณีของครอบครัวหญิงสาวผู้เป็นใบ้แต่สามารถสอนให้ลูกอ่านหนังสือจนกลายเป็นเด็กที่ฉลาดและเรียนหนังสือเก่งที่สุดในห้องได้แล้ว ยังมีกรณีของครอบครัวที่แม่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้แต่พยายามอ่านหนังสือให้ลูกคนเล็กฟัง จนส่งผลให้ลูกฉลาดขึ้นอีกด้วย ใน ต.น้ำคำ ของ จ.ยโสธร แห่งนี้ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกหลากหลายรูปแบบนอกจากกรณีศึกษาของสองครอบครัวนี้
พนมวัน คาดพันโน ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เล่าถึงที่มาที่ไปของการขับเคลื่อนเรื่องตำบลรักการอ่าน ใน ต.น้ำคำ จ.ยโสธร ให้เราฟังว่า "เริ่มแรกได้ทำงานวิจัยในเรื่อง ''ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง'' ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของตำบลแห่งการอ่าน และโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นที่ ต.น้ำคำ โดยตอนแรกดำเนินการแบบไม่มีความรู้ คิดเพียงแค่ว่าอ่านหนังสือ 3 เล่มให้เด็กฟัง แล้วเด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงเริ่มโดยคิดว่าจะแจกหนังสือไปแต่ละบ้าน โดยไปเลือกหนังสือเอง อาศัยลูกให้ช่วยเลือกหนังสือ เพื่อเป็นแนวทางว่าเด็กชอบเล่มไหน
ต่อมาจึงไปชวนชาวบ้านให้มาเริ่มโครงการ ทำให้พบว่าชาวบ้านยังมีความคิดว่าเด็ก 0-6 ปียังอ่านหนังสือไม่ได้ เมื่อเริ่มโครงการเราก็เริ่มเวียนหนังสือให้แต่ละบ้านแบ่งปันการอ่าน โดยแต่ละบ้านจะได้หนังสือไม่ซ้ำกันบ้านละ 2 เล่มก่อนในเบื้องต้น เนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัด ซึ่งผลลัพธ์ทำให้เห็นถึงมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ทำให้เด็กๆ ติดหนังสืองอมแงม และหนังสือที่เด็กๆ ชอบอ่านมากที่สุดคือหนังสือเล่มแรกที่ได้อ่าน ทำให้เราพบว่าไม่ต้องซื้อหนังสือมาเก็บไว้มากก็ได้ หากยังมีงบประมาณที่จำกัด" ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าว
ทั้งนี้ เด็กๆ ที่เข้าร่วมในโครงการวิจัย ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังนี้ เป็นเด็กอายุไม่เกิน 3 ปี จำนวน 92 คน เด็กอายุ 3-6 ปีอีก 288 คน จากศูนย์เด็กเล็ก 6 แห่ง ในพื้นที่ โดยทีมงานได้จัดหาหนังสือมาให้ผู้ปกครองอ่านให้เด็กๆ ฟังทุกวัน และเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 เดือนก็ลงไปติดตามผล โดยผลวิจัยในครั้งนี้พบว่า พลังแห่งการอ่านเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด - 3 ปี ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 92 คน รวมทั้งเด็ก 3-5 ปีในศูนย์จำนวนหนึ่ง โดยเด็กๆ มีพัฒนาการดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ซึ่งหลังจากงานวิจัยในเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว จึงเกิดหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการอ่านสำหรับเด็กๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือโครงการตามหานิทานพื้นบ้าน
พนมวัน บอกเล่าถึงโครงการตามหานิทานพื้นบ้านเพิ่มเติมให้ฟังว่า "เราได้ต่อยอดการทำงานจากการทำงานวิจัยโดยการทำโครงการตามหานิทานพื้นบ้าน โดยให้ผู้สูงอายุมาเล่านิทานให้เด็กๆ ในศูนย์เด็กเล็กฟัง นอกจากคุณตาคุณยายจะมาเล่านิทานให้เด็กๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กฟังแล้ว เด็กๆ เองก็ต้องเดินทางออกไปตามหานิทานกับคุณตาคุณยายเองด้วย ซึ่งเด็กๆ ฟังนิทานอย่างตั้งอกตั้งใจพร้อมกับจดบันทึกนิทานต่างๆ เหล่านั้นกลับมาด้วย การที่เด็กนักเรียนได้ออกไปค้นหานิทานกับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านนั้นทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กๆ ได้นิทานมามากกว่าร้อยเรื่อง ทำให้ทั้งคนเฒ่าคนแก่และเด็กๆ มีความสุขมาก โดยเฉพาะเด็กเพราะได้อ่านหนังสือไปด้วย ฟังนิทานไปด้วย" ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าว
นอกจากสองโครงการที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ ต.น้ำคำ จ.ยโสธร แล้ว สิ่งที่การันตีความสำเร็จด้านการอ่านให้แก่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ คือการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นและชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญอันใหญ่ยิ่งของการอ่าน ซึ่ง จ.ยโสธร ได้ประกาศตัวเป็นเมืองแห่งการอ่าน โดยทุกๆ มุมของจังหวัดจะมีหลากหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการอ่านไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดที่ถูกขยายให้มีเพิ่มมากขึ้นในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลากหลายแห่งเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้และหยิบยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้
ที่เมืองแห่งนี้ยังมีครอบครัวต้นแบบกว่า 50 ครอบครัวที่คอยส่งเสริมการอ่านให้แก่ลูกหลานอยู่ไม่ขาดสาย และในหลากหลายหมู่บ้านในจังหวัดยโสธรก็มีมุมอ่านหนังสือซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดน้อยๆ ในบ้าน หลายโครงการเหล่านี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่ดำเนินการด้านการอ่านอย่างเป็นรูปธรรม ก้าวย่างที่เล็กๆ หากแต่ส่งผลประโยชน์อย่างมั่นคงและยิ่งใหญ่ของ จ.ยโสธรนี้ เจ้าตำรับบอกว่าไม่หวง และแนะอีกด้วยว่าจังหวัดไหนๆ ก็สามารถนำไปพัฒนาการอ่านให้เป็นแบบอย่างในพื้นที่ของตนเองได้เพราะผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและคนในท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง
.................................................
(ตำบลน้ำคำเมืองรักการอ่าน ต้นแบบพัฒนาเด็กเล็ก : โดย...เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง / ศูนย์สื่อสารเพื่อสังคม)