ก้าวใหม่ของห้องสมุด (Libraries on the Move)
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 และประชุมวิชาการ เรื่อง ก้าวใหม่ของห้องสมุด (Libraries on the Move) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 28-30 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมอะเดรียติกพาเลซ กรุงเทพมหานคร
หลักการและเหตุผล
บทบาทหน้าที่ของห้องสมุด บรรณารักษ์ และผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดในปัจจุบันมีขอบเขตกว้างขวางมากกว่าที่เคยเป็น งานของห้องสมุดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในห้องสมุดหรือให้บริการเฉพาะผู้มาใช้ห้องสมุดเท่านั้น ห้องสมุดมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและให้บริการการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนทุกคนของประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมและการส่งเสริมการอ่านให้แก่ประชาชนทั้งที่มาใช้และไม่ได้มาใช้ห้องสมุด โดยการหาแนวปฏิบัติที่ดี และออกไปหาประชาชนแทนที่จะรอหรือให้บริการผู้มาใช้ห้องสมุดเท่านั้น อีกตัวอย่างที่ดีที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดในการส่งเสริมการอ่านและให้การศึกษาแก่ทุกคนคือการที่กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ปี 2556
นอกจากภารกิจในระดับประเทศแล้ว การที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน เป็นสิ่งที่บรรณารักษ์และห้องสมุดสามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนประชาชนทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ผู้เข้าประชุมจะได้รับฟังหัวข้อการเตรียมบรรณารักษ์และห้องสมุดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งทุกท่านจะได้ทราบถึงความสำคัญของการเกิดประชาคมฯ ประชาคมฯ มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาและห้องสมุดอย่างไร ห้องสมุดและบรรณารักษ์ควรเตรียมความพร้อมอย่างไรในการที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมฯ โดยวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาและประชาคมฯ เป็นอย่างดี ในส่วนของงานภายในห้องสมุดเองก็ต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงให้เจริญก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา เช่น การให้บริการนวนิยายในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-novel ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าห้องสมุดจะละเลยนวนิยายที่เป็นรูปเล่มในรูปแบบที่เป็นอยู่ เพียงแต่จะมีพัฒนาการและทางเลือกให้ผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการสงวนรักษาทรัพยากรสารนิเทศที่มีคุณค่าในห้องสมุดยังคงเป็นเรื่องสำคัญ นวนิยายหลายเรื่องที่มีคุณค่าและเป็นทรัพยากรหายากก็รวมอยู่ในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสงวนรักษาทรัพยากรสารนิเทศ ซึ่งทำได้มากมายหลายวิธี อีกประเด็นหนึ่งซึ่งบรรณารักษ์และผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดยังคงต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนที่จะจัดทำคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดโดยเฉพาะ
เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตถึงอนาคตห้องสมุดมีพัฒนาการด้านวิชาการและบริหารจัดการเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้และประเทศชาติเกิดขึ้นมากมาย พัฒนาการนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุค “ก้าวใหม่ของห้องสมุด”
ผู้รับผิดชอบ
สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมทราบถึงพัฒนาการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับห้องสมุด
2. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมทราบถึงบทบาทของตนต่อพัฒนาการใหม่ ๆ ของห้องสมุด
3. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมเตรียมความพร้อมต่อพัฒนาการใหม่ ๆ ของห้องสมุด
4. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมนำพัฒนาการใหม่ ๆ ไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงงานห้องสมุดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการและประเทศชาติ
ระยะเวลาการประชุม วันที่ 28-30 มีนาคม 2555
สถานที่ประชุม
โรงแรมอะเดรียติกพาเลซ เลขที่ 1178 ถนนวิทยุ–ชิดลม เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02-6551600-4 โทรสาร 02-655-1666
ผู้เข้าประชุม
1. ผู้บริหาร บรรณารักษ์ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุด
2. คณาจารย์ในสถาบันที่จัดการศึกษาและการวิจัยทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
3. ผู้สนใจทั่วไป
ที่มา : http://www.bangkokreadforlife.com/index.php/bkk-reding-group/7-reading-project/479--libraries-on-the-move