[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 





 

 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันออกพรรษา วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11

พุธ ที่ 31 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2555


วันออกพรรษา
วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11

         

             วันออกพรรษา 2555 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร

            นิยาม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นการจำพรรษาแห่งพระสงฆ์ คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ว่า วันออกพรรษา, วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา

ประวัติความเป็นมาวันออกพรรษา

          วันออกพรรษา เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ที่ร่วมกันในวัดหรือสถานที่ซึ่ง อธิษฐานเข้าตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันนี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม ซึ่งเรียกว่า วันมหาปวารณา คือ วันที่พระภิกษุ์สงฆ์ทุกรูปจะอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความประพฤติต่างๆ นับตั้งแต่พระสังฆเถระ ได้แก่ พระภิกษุ์ผู้ที่มีอาวุโสสูงลงมา จะสามารถว่ากล่าวตักเตือนหรือเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกัน

          การกระทำมหาปวารณา เป็นการสังฆกรรมอย่างหนึ่งแทนการสวดพระปาฏิโมกข์ (พระวินัย) ที่ได้กระทำกันทุกๆ 15 วันในช่วงเข้าพรรษา

          วันออกพรรษา วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา (อ่านว่า  ปะ-วา-ระ-นา) หรือวันมหาปวารณา คือ วันที่เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุ ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน ซึ่งความเป็นมาของการทำปวารณากรรม หรือให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน ในวันออกพรรษานี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พุทธสาวกจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อออกพรรษาหมดฤดูฝน แม้จะจำพรรษาอยู่ที่ใกล้ไกลแค่ไหน ก็จะพากันเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นได้เฝ้าแล้ว พระพุทธองค์จะทรงตรัสถาม ถึงสิ่งที่พระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติในระหว่างจำพรรษา ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง เกรงว่าในช่วงจำพรรษาด้วยกัน จะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันเองว่า จะไม่พูดจากัน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ จึงทรงตำหนิว่าการประพฤติ มูควัตร (ทำตนเป็นใบ้เงียบไม่พูดจากัน) เป็นเรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ เพราะประพฤติเหมือนพฤติกรรมของสัตว์ เช่น แพะ แกะ ไก่ วัว ที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกัน

          แล้วทรงสั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ความประพฤติเช่นนั้นไม่สมควรแก่คนทั้งหลายหรือผู้ที่มีความเจริญแล้ว แล้วจึงทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาว่าให้ภิกษุที่จำพรรษา ครบสามเดือนแล้วทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรมในวันออกพรรษา การ ปวารณาหรือการว่ากล่าวตักเตือนในหมู่สงฆ์นี้ ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องทำด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือนทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวก็ปรับปรุงตัวใหม่ หากไม่จริง ก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่าง ทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงเพื่อก่อ ฟังเพื่อแก้ไข จึงจะได้ประโยชน์ และตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณา ที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคี และดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์

สำหรับฆราวาสหรือพุทธศาสนิกชน ก็สามารถนำหลักการปวารณาในวันออกพรรษานี้ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ทั้งในครอบครัว สถานศึกษาหรือในสถานที่ทำงาน โดยยึดความเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง คือ ถ้าจะติก็ติด้วยความหวังดีมิใช่ทำลายอีกฝ่าย ส่วนผู้ถูกติก็ควรรับฟังด้วยดี และมองเห็นความหวังดีของผู้ว่ากล่าว หากจริงก็แก้ไข ไม่จริงก็ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบสุข? สามารถแก้ไขปัญหาและพร้อมจะพัฒนาไปด้วยกันทุกฝ่าย สรุปได้ว่าความสำคัญของวันออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งด้วยเหตุผล คือ

  • พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
  • เมื่อถึงวันออกพรรษา พระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษา ไปเผยแพร่แก่ประชาชน
  • ในวันออกพรรษาพระ สงฆ์จะได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือน เรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือ และความสามัคคีกันระหว่างสมาชิกของสงฆ์
  • พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

             สำหรับคำกล่าวที่พระพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุง ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา… แปลว่า ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี

การประกอบพิธีในวันออกพรรษา

            การประกอบพิธีในวันออกพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญเป็นกรณีพิเศษ เช่นตักบาตรในตอนเช้า ถวายสังฆทาน ไปทำบุญที่วัด ถวายภัตตาหาร ฟังพระธรรมเทศนา และมีการตักบาตรเทโวในวันรุ่งขึ้น

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

1. ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลกรรม “ตักบาตรเทโว”
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ และประดับธงชาติและธงธรรมจักตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย ฉายสไลด์ หรือบรรยาธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ
1. ประเพณีตักบาตรเทโว (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน)
2. พิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา)
3. พิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
4. ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10)

  1. ประเพณีตักบาตรเทโว
    การตักบาตรเทโว จะกระทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือหลังออกพรรษาแล้ว 1 วัน
    ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโว
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษา อยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร
    การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากชั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ”ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
  2. พิธีทอดกฐิน
    ประวัติการทอดกฐิน
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์
    ภิกษุทั้ง 30 รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะ ได้เฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนยัง ตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝน ลุยฝน อย่างไรก็ไม่ย่อท้อ
    เมื่อภิกษุทั้ง 30 รูป ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสรู้ถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลในลำดับนั้น พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ สำหรับในเมืองได้ผ่านวันออกพรรษาแล้ว นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตและได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
  3. พิธีทอดผ้าป่า
    ประวัติความเป็นมา
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับจีวรจาก ชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ ผ้าที่ห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยากหรือเป็นงานใหญ่ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน
    ครั้นชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ต้องการนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ ก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร พิธีการทอดผ้าก็มีความเป็นมาด้วยประการฉะนี้
    สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา
  4. ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
    ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายที่สุดในสังคม ไทย เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึง ปัจจุบันเพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรง แลหากใครตั้งใจฟังให้จบใน วันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้าในอนาคต
    ในพระราชสำนัก ปรากฏเป็นราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ พระราชพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
    ในท้องถิ่น โดยฌแพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปีจะจัดขึ้นใน ราวเดือน 4 เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมืองและพิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน ทางภาคเหนือ ก็ให้ ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก เห็นได้จากมีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงาน ทางภาคใต้นั้นประเพณีเทศน์มหาชาติได้ คลี่คลายไป เป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


เข้าชม : 819


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      ขอเชิญร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลเนื่องใน โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ 10 / ก.ค. / 2567
      3 มิถุนายน วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 12 / มิ.ย. / 2567
      3 มิถุนายน วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 30 / พ.ค. / 2566
      โครงการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา กศน.ด้วยกระบวนการกีฬา ต้านภัยยาเสพติดจังหวัดตรัง (กศน.ตรังเกมส์) 2 / ธ.ค. / 2565
      13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 10 / ต.ค. / 2565




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอห้วยยอด
ที่ตั้ง 2 ถนนมหามิตร ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92130
โทรศัพท์ 0-7527-1498 แฟกซ์ 0-7527-1718 ปรับปรุงเว็บไซต์โดย น.ส.จันทร์เลขา  ทองสิงห์

Janlaekha6436@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05