[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
คุณค่าของการถือศีลอด

พุธ ที่ 2 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2557

คะแนน vote : 136  

 การถือศีลอดเป็นเสบียงและความดี ดังนั้น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนก็เป็นเสบียงและความดีที่มีคุณค่ามากมายหลายเท่า
คุณค่าของการถือศีลอด 
     
 อัลเลาะฮ์ทรงให้เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับความดีมากมายหากเราได้รู้ซึ้งถึงความดี เหล่านั้น เราจะต้องมีความใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะให้ทุกๆ เดือนของปีเป็นเหมือนเดือนรอมฎอนอย่างแน่นอน ที่เป็นเช่นนี้เพราะ 
      1. ในเดือนรอมฎอน อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัส ความว่า "เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ และเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งแห่งทางนำ และเป็นข้อจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จดังนั้น ผู้ใดจากหมู่สูเจ้าเห็นเดือนนั้นก็จงถือศีลอด" (ซูเราะฮอัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 185) 
      2. ในเดือนนี้มีคืน "อัลก็อดร์" ที่อัลลอฮ์ตรัส ความว่า "แท้จริงเรา (อัลลอฮ์) ได้ประทานอัลกุรอาน ลงมาในคืนอัลก็อดร์ และอะไรทำให้เจ้ารู้ว่าคืนอัลก็อดร์นั้นคืออะไร? คืนอัลก็อดร์นั้นดีกว่าคืนอื่นๆ พันคืน" (ซูเราะฮอัลก็อดร์ อายะฮที่ 1-3) 
      3. ในเดือนนี้ ประตูบานต่างๆ ของสวรรค์จะถูกเปิดออก ประตูต่างๆ ของไฟนรกจะถูก
ปิด และเหล่ามารร้ายจะถูกล่ามโซ่ 
     4. ในเดือนนี้ รางวัลตอบแทน สำหรับการประกอบการงานที่ดีจะเพิ่มพูนกว่าเดือนอื่นๆ เป็นทวีคูณ 
     5. ในเดือนนี้มีซุนนะฮ์ เอียะอติก๊าฟ และอัลกิยาม (การละหมาดตะรอเวียะห) 
 
     เหล่านี้แหละที่มุสลิม ผู้สัจจริงจะต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยความปิติยินดี อันเป็นความปิติยินดีของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีต่อความโปรดปราน และความเมตตา ของอัลลอฮ์ ที่ได้ทรงประทานให้แก่พวกเขา ในเดือนนี้ เขาจะได้ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยของชีวิต เตรียมเสบียงฟื้นความกระปรี้กระเปร่าและความกระตือรือร้นขึ้นมาใหม่ เพื่อการเดินทางของชีวิตต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดจะลิ้มรสของคุณค่าต่างๆ เหล่านั้นได้ นอกจากผู้ที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้แสดงแบบอย่างและชี้นำไว้เท่านั้น 

     ในเดือนรอมฎอน เราได้หันหน้าเข้าหาอัลกุรอาน ทั้งด้วยการอ่าน การทำความเข้าใจ และการท่องจำในยามค่ำคืนเราได้อ่านและฟังอัลกุรอาน ในการนมาซตะรอเวียะห ได้ดูดดื่มเอาแสงสว่างวิทยปัญญาทางนำ ข้อเตือนสติ และยาสำหรับการรักษา โรคจิตใจ จากอัลกุรอานอันเป็นเสมือนตาน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือคุณค่าอันเป็น "เสบียง" อันล้ำค่าที่หาที่เปรียบมิได้ 

     ในเดือนรอมฎอน บรรดาผู้ที่ถือศีลอดได้ประกอบอิบาดะฮ "อัล-กิยาม" หรือ "อัล-ตะรอวีห" ทุกๆ คืนตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ในนั้นมีคุณค่ามากมายที่จะเป็นเสบียงสำหรับชิวิต เป็นการฝึกฝนจิตใจ ให้เคยชินกับการประกอบอิบาดะฮ์ มีความอดทนในการประกอบอิบาดะฮ์ ลิ้มรสชาติของการอิบาดะฮ์ การรักษาความสัมพันธ์และความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ไว้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีความนอบน้อมถ่อมตน และมีสมาธิมั่นคงแน่วแน่ต่อพระองค์ 

     ในเดือนรอมฎอน มีซุนนะฮ์ "เอี๊ยะอติก๊าฟ" ที่จะส่งผลสะท้อนและร่องรอยที่ดีงาม และล้ำค่ามากมายหลายประการ ต่อชีวิตของผู้ที่ได้ปฏิบัติ โดยที่เขาจะได้มีโอกาสใช้ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งในฐานะของผู้ที่เป็นแขกของอัลลอฮ ณ บ้านของพระองค์ (มัสญิด) ปลีกตัวออกมาจากความวุ่นวายต่างๆ ในชิวิตหันมาสู่การทุ่มเทให้กับการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอัลลอฮ และการแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยการรำลึกถึงพระองค์ (ซิกรุลลอฮ) ในรูปแบบต่างๆ ด้วยการเศาะลาฮ (ละหมาด) ดุอาอ์ (การขอพร) มุนาญาต(การร้องทุกข์กับพระองค์) การอ่านอัลกุรอาน อิสติฆฟาร (การขออภัยโทษจากพระองค์) เตาบะฮ (การขอลุแก่โทษต่อพระองค์) และการร้องไห้เนื่องด้วยความเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์ในความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งด้วยการงานเหล่านี้ อัลลอฮ์จะทรงให้เกียรติกับแขกของพระองค์ ด้วยการเผื่อแผ่แสงสว่างและทางนำของ พระองค์ให้แก่เขา แล้วจะทำให้พวกเขาออกมาจากมัสญิดในฐานะของผู้ที่ไดัสะสมเสบียงแห่งอัตตักวา (การสำรวมตนต่ออัลลอฮ์) อัลอีมาน (การศรัทธาในพระองค์) และทางนำที่เที่ยงตรง 

      จะสังเกตเห็นได้ว่าในกลุ่มอายะฮฺ อัลกุรอานที่ว่าด้วยการถือศีลอดนั้น มีอายะฮฺหนึ่งที่ระบุว่า "และเมื่อปวงบ่าวของฉันถามเจ้าเกี่ยวกับฉัน (อัลลอฮ) ดังนั้น (จงตอบพวกเขาว่า) แท้จริงฉันนั้นอยู่ใกล้ ฉันจะตอบรับการขอของผู้ขอเมื่อเขาขอต่อฉัน ดังนั้นจงตอบรับฉัน และจงศรัทธาในฉันเผื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่บนทางที่เที่ยงตรง" (ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 186) 

การถือศีลอด หล่อหลอมให้ผู้ถือศีลอดมีคุณลักษณะเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจ (อัลอิคลาส) ต่ออัลลอฮ์ สำนึกและตระหนักในการเฝ้ามองอยู่ของพระองค์ (อัลมุรอเกาะบะฮ์) การถือศีลอดเป็นความลับ ระหว่างบ่าวผู้ถือศีลอดกับพระผู้อภิบาลของเขา อัลอิคลาส (การมีความบริสุทธิใจต่ออัลลอฮ) นับว่าเป็นเสบียงที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกๆ คนบนเส้นทางงานดะอวะฮ (การเรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่อิสลาม) ไม่มีความดีใดๆ ไม่มีความหมายใดๆ หรับการทำงานและความพยายามที่ปราศจากความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ เพราะอัลลอฮ์มิทรงปรารถนาการตั้งภาคีกับพระองค์ และพระองค์ จะทรงรับเพียงแต่การงานที่มีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์เท่านั้น 

       ในการถือศีลอดมีการต่อสู้กับความอยาก และความต้องการของอารมณ์ และร่างกาย อันจะเป็นการช่วยสร้างเจตนารมณ์ที่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็งให้กับมุสลิมซึ่งเป็นเสบียงที่จำเป็นมาก สำหรับผู้ที่ทำงานเรียกร้องเชิญชวนผู้คนเข้าสู่อัลลอฮ์ และนักต่อสู้ในหนทางของพระองค์ เพราะผู้ที่ถือศีลอดนั้นเป็นผู้ที่ทำหน้าที่บังคับ และควบคุมบังเหียนของตัณหา และอารมณ์ของตนไม่ให้กิน ดื่ม กระทำและเสพสุขในสิ่งที่เป็นที่ อนุมัติภายในช่วงเวลาหนึ่งของกลางวันตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อการประกอบอิบาดะฮฺศิยาม (ถือศีลอด) ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ จะช่วยให้เขาสามารถยับยั้งตน จากสิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามได้ในเวลาอื่นๆ ที่เหลืออยู่ 

       ในการถือศีลอด ทำให้ผู้ถือศีลอดบรรลุถึงคุณค่าของความอดทน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น อย่างยิ่งสำหรับคนทำงานอิสลาม การมีความอดทนเป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และสามารถดำเนินไปบนเส้นทางของการดะฮฺวะฮฺได้ อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากความท้อแท้ หรือความอ่อนแอใดๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำขู่ หรือการรังแก หรือการขับไล่ใดๆ ก็จะไม่สามารถยับยั้ง เขาได้ 

        การถือศีลอด จะทำหน้าที่ชำระขัดเกลา หล่อหลอมและกล่อมเกลาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นระยะวลาหนึ่งเดือนเต็ม ทำให้ผู้ถือศีลอดเกิดความเคยชินจนกลายเป็นนิสัย การถือศีลอดไม่ได้ จำกัดอยู่เพียงแค่การงดจากการสนองอารมณ์ ท้อง และอวัยวะเพศเท่านั้น แต่การถือศีลอดที่แท้จริงเว้นจาก สิ่งที่อัลลอฮ์ห้ามด้วย ไม่ว่าจะเป็นตา หู ลิ้น มือ หรือเท้า ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับ การหล่อหลอมและสร้างบุคลิกของมุสลิม 

        การถือศีลอด ทำให้ผู้ถือศีลอดบรรลุถึงคุณค่าของการมีความอดกลั้นต่อการกระทำของพวกโง่ เขลาและเบาปัญญาเพราะเมื่อมีใครพยายามจะโต้เถียงหรือพิพาทกับเขา หรือด่าเขา หรือแสดงความ โกรธเคืองต่อเขา เขาจะข่มความโกรธของเขาไว้ มีความอดกลั้นและกล่าวว่า "ฉันถือศีลอด ฉันถือศีลอด" 

        บรรดาผู้ที่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่อัลลอฮ์ จำเป็นที่จะต้องมี จริยธรรมข้อนี้ กล่าวคือ การควบคุมอารมณ์ของตน มีใจกว้าง และไม่โกรธง่ายตามอารมณ์ของตน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อการ ดะฮฺวะฮฺ ดังที่อัลลอฮ์ตรัสความว่า : "และมาตรว่าเจ้า (มูฮำมัด) ใช้เสียงกร้าว และมีจิตใจกระด้าง แน่นอนพวกเขาจะเตลิดออกไปจากเจ้า" (ซูเราะฮอาลิ อิมรอน อายะฮที่ 159) 

สิ่งนี้เช่นกันที่ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของการ ดะฮฺวะฮฺและการสร้างผลผลิต กล่าวคือ แทนที่จะเสียเวลาไปกับเรื่องที่เป็นผลมาจากความโกรธเคืองในการโต้เถียง ความขัดแย้ง การยุ่งอยู่กับเรื่องจุกจิกเล็กน้อยและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ด้อยค่าที่แล้วล้วนแต่จะทำให้เวลาสำหรับการ ดะฮฺวะฮฺ การสร้างผลิตผลของดะฮฺวะฮฺและทำงานอิสลามต้องสูญเปล่าไป ดังที่อัลลอฮ์กล่าวว่า : " และความดีกับความชั่วนั้นไม่เท่ากันจงกำราบ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่ดีกว่า" (ซูเราะฮฟุศศิลัตที่ 3) 

           การถือศีลอดทำให้ผู้ถือศีลอดมีความรู้สึกเมตตา และมีท่าทีที่สุภาพอ่อนโยนต่อคนยากจนและผู้ ขัดสน เนื่องจากเขาได้ลิ้มรสชาติของความหิวโหยกระหายอันจะเป็นตัวกระตุ้นและพลักดันให้เขาหยิบยื่น ความช่วยเหลือให้แก่คนยากจนและผู้ขัดสนในทำนองเดียวกันกับที่ซะกาตฟิฎเราะฮ ได้ย้ำในความหมาย เดียวกันนี้ นี่คืออีกด้านหนึ่งของการ อบรมขัดเกลาที่สำคัญอันจำเป็นที่จะต้องทำให้เด่นชัด ในระหว่าง พี่น้องมุสลิมในระหว่างที่มีการถือศีลอด และท้องว่างจากอาหารนั้น จิตใจจะยกระดับและใสสะอาดม่าน ต่างๆที่ปิดบังความดีไว้ถูกเปิดออก แรงดึงดูดแห่งธาตุดิน (อำนาจใฝ่ต่ำความชั่ว) จะหมดไป ทำให้เกิด ความผ่องแผ้ว ใสสะอาด รัศมีแห่งสัจธรรมจะแผ่กระจายในหัวใจ ทำให้หัวใจได้รับแสงสว่างและพร้อม ที่จะรับการขัดเกลาและหล่อหลอมด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ การอ่านอัลกุรอาน การอิสติฆฟาร (การขออภัยโทษจากอัลลอฮ) การเตาบะฮฺ การดุอา อันเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ความอิ่มเอิบแห่งจิตวิญญาณและความรู้สึกใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ซึ่งท่านรอซูลลุลอฮ  ได้ย้ำถึงความหมายนี้ว่า "แท้จริงชัยฏอน (มารร้าย/ความชั่ว) นั้นวิ่งโคจรอยู่ในตัวมนุษย์ เหมือนกับการไหลเวียนของโลหิต ดังนั้นจงปิดกั้นเส้นทางการโคจรของมันด้วยความหิวเถิด" (หะดีษ มุตตะฟะกุน อะลัยฮ์) 

           การถือศีลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ร้อนจัดนั้น ช่วยเตรียมมุสลิมให้มีความอดทนและมานะ บากบั่นในวันหนึ่งที่เขาอาจจะต้องอยู่ในสนามของการญิฮาดการทำสงครามและการเผชิญหน้ากับเหล่า ศัตรูด้วยความเข้มแข็ง หรือไม่ก็สำหรับการที่เขาจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่รุนแรงใน สนามของการดะฮฺวะฮฺด้านต่างๆ ซึ่งเมื่อนั้นแรงดึงดูดใฝ่ต่ำและเสียงเรียกร้องต่างๆ ของร่างกายจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขาอีกต่อไป มันจะไม่ทำให้เขาหยุดชะงักในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง 

           การถือศีลอด สอนให้ผู้ถือศีลอดตระหนักถึงสิ่งที่ผู้ศรัทธาพึงมีความปีติยินดีนั่นคือการได้รับทางนำ จากอัลลอฮ์ การที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ให้สามารถประกอบอิบาดะฮได้อย่างมีความบริสุทธิ ต่อพระองค์ ดังที่ท่านรอซูลุลลอฮ  ได้บอกให้เราทราบว่า สำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้น เขาจะมีความปีติยินดีถึงสองครั้งด้วยกัน นั่นคือ (1) เมื่อเขาละศีลอด และ (2) เมื่อเขากลับไปพบอัลลอฮ พร้อมกับได้นำการถือศีลอดของเขาไปรายงานต่อพระองค์ด้วยเพราะอัลลอฮตรัสความว่า "จงกล่าวเถิดเนื่องด้วยความโปรดปรานของอัลลลอฮและความเมตตาของพระองค์ ดังนั้นจงให้พวกเขาทั้งหลายแสดงความปีติด้วยสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นดีกว่าสิ่งที่พวกเขารวบรวม" (ซูเราะฮยูนุส อายะฮที่ 58) 

สิ่งนี้ยังสามารถช่วยแก้มโนภาพที่ไม่ถูกต้องของผู้คนที่มักจะดีใจกับปัจจัยชั่วแล่นที่พวกเขาได้รับบน โลกนี้ และโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องสูญเสียมันไป การถือศีลอด เป็นสิ่งที่ย้ำถึงความหมายของ "ญะมาอะฮ" ในจิตใจของผู้ถือศีลอดเพราะพี่น้องมุสลิมทั่วโลกต่างร่วมกันถือศีลอดในเดือนเดียวกันพวกเขาสัมผัส และตระหนักว่าความดีที่พวกเขาได้รับ อันสืบเนื่องมาจากการถือศีลอดและเดือนรอมฎอนนั้น พี่น้องมุสลิมทั่วโลก ก็มีส่วนร่วมด้วยท่ามกลางความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา และสีผิว ซึ่งมีการสำนึกถึงเอกภาพของ พี่น้องมุสลิมนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับบรรดาผู้ที่ทำงานในการดะฮฺวะฮฺ โดยที่ในการถือศีลอดมีคุณค่ามากมาย 

         ดังนั้น นอกเหนือไปจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่เป็นภาคบังคับแล้วท่านรอซูลุลลอฮ  ยังได้แสดงแบบอย่างไว้แก่เราในเรื่องการถือศีลอดอื่นๆ ว่ามีอยู่ตลอดปี หากเราตระหนักและสำนึกว่านั่นคือความปรารถนาดีของท่านที่จะให้เราได้รับความดีจากการถือศีลอด แล้วก็คงเป็นการง่ายที่เราจะปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านด้วยความเมตตาและความประสงค์ที่จะให้เราได้รับคุณความดีนั้นเอง ที่อัลลอฮ์ทรงผ่อนปรน เรื่องการละหมาดของเราในการทำสงคราม ด้วยการที่พระองค์มิได้ทรงงด หากแต่ทรงลดหย่อนในรายละเอียดบางเรื่องเช่นจำนวนร็อกอะฮและเวลา เพื่อมิให้สูญเสียโอกาส ที่จะได้รับคุณความดีและเสบียงที่มีค่าสำหรับชีวิตไป ในทำนองเดียวกัน ด้วยความเมตตาของพระองค์ที่ได้ทรงผ่อนผันให้เราสามารถถือศีลอดชดใช้หรือจ่ายฟิตยะฮ์(ค่าชดใช้) ได้ในยามที่เราไม่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากการเดินทางหรือความเจ็บป่วย 

           การถือศีลอด เชื่อมโยงมุสลิมเข้ากับโลก จักรวาลและสรรพสิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์ หรือดวงดาว ในขณะที่เขาเฝ้าคอยและมองหาจันทร์เสี้ยวแรกของวันเริ่มต้นเดือนรอมฎอนและเซาว์วาล เฝ้ามองหาตำแหน่งที่ขึ้นของดวงจันทร์ทำให้เขาได้รู้จักกับการสร้างสรรค์ของอัลลอฮที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และพลานุภาพของพระองค์ 

          การถือศีลอด ฝึกฝนให้มุสลิมตระหนักในความสำคัญของเวลา มีความละเอียดอ่อนในเวลาของการนัดหมายต่างๆ จากการที่ผู้ถือศีลอดเฝ้าดูเวลาที่เขาจะเริ่มต้นถือศีลอด และเวลาที่เขาจะละศีลอดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อว่าไม่ให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเปล่าไปอันเนื่องมาจากความเพิกเฉยหรือความไม่ละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องของเวลา การที่เขาก็ปฏิบัติเช่นนี้อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ทำให้คุณลักษณะข้อนี้ถูกปลูกฝังลงไปในชีวิตของเขา ซึ่งนี่คือสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ใน การดะฮฺวะฮฺ ในชีวิตของการทำงานดะฮฺวะฮฺ การนัดหมายและการพบปะต่างๆ ในการทำงาน เขาจะไม่เป็นคนที่ละเลยเรื่องสำคัญๆ ไม่ควรปล่อยเวลาให้สูญเปล่าและไม่เป็นคนที่ทำให้ผู้อื่นเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย 

นอกเหนือจากสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้ว การถือศีลอด ยังจะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย ซึ่งในวงการแพทย์ปัจจุบัน ได้พบความจริงข้อนี้จนทำให้หลายคนที่ต้องการรักษาสุขภาพของตนหันมาเอาการถือศีลอดเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาสุขภาพและโรคบางชนิด คุณค่าต่างๆ การอบรมขัดเกลา และการหล่อหลอมที่จะได้การถือศีลอดดังที่กล่าวมาทั้งหมด นี้เป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับผู้ที่มีความจริงใจและได้ดำเนินการถือศีลอดตามวิธีการที่อัลลอฮทรงประสงค์ และตามแบบอย่างที่ท่านรอซูลผู้ทรงเกียรติได้สอนไว ้ เราไม่เห็นดอกหรือว่าทุกวันนี้มุสลิมจำนวนมากที่ได้เปลี่ยนเดือนรอมฎอนมาเป็นเทศกาลแห่งการกินดื่มอย่างตะกละ และการทำอาหารมากมายหลายชนิดแทนที่จะเป็นเดือนแห่งความหิวกระหายและการลดปริมาณให้เหลือน้อยลง เราไม่เห็นดอกหรือว่าในเดือนนี้อีกเช่นกันที่ผู้คนจำนวนมากมายเปลี่ยนจากการเป็นเดือนแห่งการทำอิบาดะฮฺ อัลกิยาม และการอ่านอัลกุรอาน มาเป็นเดือนแห่งการละเล่น และการให้เวลาในตอนกลางคืนไปกับการมั่วคุยในเรื่องไร้สาระ มันได้เปิดโอกาสให้เหล่านักร้องและศิลปินชายหญิงได้ขับกล่อมราตรีของรอมฎอน ด้วยแรงผลักดันของความชั่วที่อยู่ในจิตใจและความประสงค์ ที่จะให้เกิดความชั่วขึ้นกับผู้อื่นเหล่านี้คือความชั่วร้าย ซึ่งผู้เขียนใคร่ย้ำว่ามันคือสิ่งที่บ่อนทำลายสาระของเดือนรอมฎอน มันเป็นภาพที่อัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ไม่พึงพอใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำการแก้ไขให้มันหมดไป 

         ท้ายนี้ ผู้เขียนขอวิงวอนต่ออัลลอฮ์ให้เราได้รับประโยชน์ต่างๆ ด้วยความดีของรอมฎอนและคุณค่าของการถือ ศีลอด สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงทุกๆเรื่องของการถือศีลอด สิ่งที่ได้นำมากล่าวไว้นั้นเป็นสิ่งที่เชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้เราตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการถือศีลอด 

         การถือศีลอดนั้นภาษาอาหรับใช้คำว่า "อัศ-เซาม์" ซึ่งแปลว่า การงด คืองดจาก การกิน การดื่ม การร่วมประเวณี ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนดวงอาทิตย์ตก แต่จริงๆ แล้ว ไม่เพียงแต่งดการกินการดื่มเท่านั้นแต่ต้อง งดทุกสิ่งที่อัลลอฮห้ามด้วยเพราะฉะนั้นชีวิตของมุสลิมจริงๆ จึงต้องถือศีลอด แต่จะเป็นพิเศษในเดือนรอมฎอน เพราะต้องเพิ่มจากศีลธรรมดาเป็นศีลอด การถือศีลอด ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ร่วมประเวณี และที่สำคัญนั่นคือ มีรายงานจากอะบีฮูรอยเราะฮฺเล่าว่าท่านนบีฯ กล่าวว่า "ไม่ใช่ว่าการถือศีลอดเพียงงดการกินและการดื่ม แต่การถือศีลอดยังต้องงดจากคำพูดไร้สาระและหยาบคายด้วย" เพราะฉะนั้นหัดเป็นคนที่ถือศีลอดจริงๆ อยู่กับอัลลอฮ์จริงๆ เมื่อทำได้อย่างตลอดเดือนเราจะเกิดความรู้สึกว่า เราไม่เคยมีความสุขอย่างนี้มาก่อน ตอนเป็นคนเกเร เที่ยวเล่นการพนัน ลักเล็กขโมยน้อย ไม่เคยรับความสุขเหมือนมาจำศีลภาวนาอยู่กับพระเจ้าอย่างนี้เลยและหะดีษท่านนบีฯ ได้แนะนำไว้ว่า ถ้าใครมาด่าเจ้า ใส่ร้ายเจ้า ก็บอกกับเขาว่าฉันกำลังถือศีลอด ฉันกำลังถือศีลอด 

       คำพูดนี้ ให้อะไรกับเรา ? 
           1. เตือนสติเราว่าเรากำลังถือศีลอดนะ ฉะนั้นสิ่งที่อัลลอฮ์ห้ามฉันจะไม่ทำ อัลลอฮ์ห้ามไม่ให้ลดเกียรติ ไปมั่วกับคนชั่วฉันก็จะออกห่างตามอัลลอฮ์ใช้ 
           2. คนที่ได้ยินเราพูดว่า ฉันกำลังถือศีลอด ถ้าเขามีความคิดสักนิด เขาจะละอายที่มาด่ามาใส่ร้าย คนที่กำลังถือศีลอดอยู่ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ลองคิดดู คนที่มาใส่ร้ายเรา คนดีหรือคนชั่ว ถ้าเขาเป็นคนชั่วเพราะเป็นคนมาด่าว่าเรา และเราไปด่าไปว่าเขา เราก็ชั่วพอกับเขาใช่มั้ย? เราพอใจที่จะเป็นคนชั่วไปด้วยหรือ? ถ้าไม่ชอบ ถ้าเกลียดคนชั่ว ถ้าเช่นนั้นอย่าลดเกียรติไปเป็นคนชั่ว ถ้าทำตัวเช่นนี้ให้ได้ท่านจะมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทุกคนจะยอมกลับมาสยบ เคารพนับถือในตัวท่าน ท่านนบียังบอกอีกว่า "ใครยังไม่ทิ้งคำพูดหยาบคาย และการกระทำไม่ดี อัลลอฮ์ ไม่สนใจ ที่เขาอดทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม" ดังนั้น นบีจึงบอกว่า "คนถือศีลอดบางคนเขาไม่ได้อะไรนอกจากความหิวและกระหายเท่านั้น" จะทานอาหารก็กลัวจะเสียศีล จะดื่มน้ำก็กลัวจะเสียศีล แต่ว่าทำไม นินทาคนไม่กลัว ทำไมไม่ใส่ร้ายคนไม่กลัวว่าจะทำลายคุณค่าของการถือศีล บางคนอดอาหารอย่างลำบาก ทำได้ แต่ว่าละหมาดบ่าย 4 รอกอะฮฺ ทำไม่ได้ ละหมาดอัศริ ทำไม่ได้ แสดงว่า ผู้นั้นกำลังขาดสำนึกในการถือศีลอดว่า เขากำลังเป็นผู้จำศีลอดอยู่กับอัลลอฮ์ ทำไมเขาถึงฝ่าฝืนอัลลอฮ์ ขอให้นึกดูให้ดี เดือนนี้เป็นเดือนระหว่างเรากับอัลลอฮ์ เราจะต้องภูมิใจเป็นเดือนพิเศษในรอบ 12 เดือน และอัลลอฮ์ได้สัญญาว่า ใครขออภัย อัลลอฮ์จะยกโทษให้ เพราะฉะนั้นขณะที่เรามาละหมาด มาทำอิบาดะฮฺ เป็นโอกาสที่อัลลอฮ์กำลังรัก กำลังเมตตา เมื่ออัลลอฮ์เมตตาเรา อะไรที่เราขอ เราอยากได้ อะไรที่เป็นสิ่งดีสำหรับตัวเรา ครอบครัวเรา พระองค์รู้ดี แล้วพระองค์ก็สัญญาว่าจะประทานให้จงมาละหมาด ด้วยความภูมิใจ ด้วยการตั้งอกตั้งใจ จงลุกขึ้นละหมาด ในยามดึก ด้วยมีจิตใจอย่างนี้แล้วท่านจะทราบว่าตั้งแต่เราทำดีกับอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ ให้ชีวิตเราดีขึ้นสัญญาของอัลลอฮ์ไม่เป็นหมันหรอก 

          การถือศีลอดมีรู่ก่น (หลักการ) อยู่ 2 ข้อคือ 1. ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ร่วมประเวณี ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก 2. มีการตั้งเจตนา ในยามค่ำคืนก่อนแสงอรุณขึ้นของทุกคืน ตามหะดีษที่บอกว่า"การงานต่างๆเป็นไปตามเจตนา และแต่ละคนจะไปตามที่เขาปรารถนา" ถ้าใครตั้งใจอดอาหารเพื่อลดความอ้วน เขาก็ได้ลดความอ้วน ถ้าใครตั้งใจ อดอาหารเพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ เขาก็จะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ตามเจตนาของส่วนเวลา ของการตั้งเจตนานั้นจะเป็นเวลาไหนก็ได้ขอให้อยู่ในตอนกลางคืนก็แล้วกัน บางคนก็เข้าใจผิดว่าต้องตั้งเจตนา ตอนทานอาหารซูโฮร แต่ไม่จำเป็นหรอก และไม่จำเป็นต้องเปล่งวาจาออกมาด้วย เช่นพูดว่า "ข้าพเจ้าตั้งใจถือศีลอดวันพรุ่งนี้ของเดือนรอมฏอนปีนี้เพื่ออัลลอฮตะอาลา" เพราะการเจตนาเป็นเรื่องของจิตใจ ท่านตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะถือศีลอดนั่นแหละเรียกว่าเจตนาเพราะฉะนั้นเนื้อแท้ของการเจตนา ก็คือตั้งใจถือศีลอดตามที่อัลลอฮ์ทรงใช้ และหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ เท่านั้น ใครตื่นมาทานอาหารซูโฮรโดยตั้งใจจะถือศีลอดตอนเช้าทานอาหาร เพื่อการนี้นั่นแหละเขาได้ตั้งเจตนาเพื่อถือศีลอดแล้ว หรือถ้าใครคอยสังเกตว่าแสงอรุณจะขึ้นเวลาไหนเพื่อเขาจะได้งดการกิน การดื่ม ก็ถือว่าเขามีเจตนาถือศีลอดแล้วเหมือนกัน แม้จะไม่ทานอาหารซูโฮรก็ตาม 

บรรดานักวิชาการอิสลามลงมติว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทานอาหารซูโฮรเพราะ 
          1. เพื่อให้แตกต่างระหว่างเรากับชาวยิวและชาวคริสต์ กล่าวคือเมื่อพวกเขาถือศีลอดพวกเขาจะไม่ทานอาหารซูโฮร ท่านนบีจึงบอกว่า "พวกเจ้าจงทำให้แตกต่างจากพวกเขา" 
          2. อาหารซูโฮรทำให้ร่างกายแข็งแรง ในการที่จะต่อสู้กับการอดอาหารในตอนกลางวันแต่ถ้าใครไม่ทานก็ไม่มีโทษอันใด อาหารซูโฮรนั้นจะเป็นอาหารประเภทก็ได้ แม้แต่น้ำดื่มอึกเดียวก็ใช้ได้ แม้แต่เวลาของซูโฮรนั้นเริ่มจากเที่ยงคืนจนถึงแสงอรุณขึ้นใครทานก่อนเที่ยงคีน ไม่ถือว่าเป็นอาหารซูโฮร และได้บุญของการทานอาหารซูโฮรด้วยและที่ดีควรให้ล่าช้า มีรายงานจาก เซดบินซาบิต เล่าว่า เราทานอาหารร่วมกับท่านรอซู้ลฯ หลังจากนั้นเราจึงไปละหมาด ท่านอนัสถามว่าเวลาห่างกันเท่าไหร่? เซดตอบว่า ประมาณ 50 อายะฮฺกุรอ่าน และถ้าหากสงสัยว่าแสงอรุณขึ้นหรือยัง? อนุญาตให้ดื่ม- กิน จนกว่าจะแน่ใจว่าแสงอรุณขึ้นเพราะมีชายคนหนึ่งมาบอกกับอิบนุอับบาสว่า ฉันจะทานอาหารซูโฮร แต่สงสัยว่าแสงอรุณขึ้นหรือยังฉันก็เลยหยุด อิบนุอับบาสบอกว่าทานได้จนกว่าจะแน่ใจว่าแสงอรุณขึ้นจึงหยุดเพราะอัลลอฮ์บอกไว้ชัดเจนว่า "จงกินและจงดื่มจนกระทั่งแสงอรุณขึ้นชัดเจน"

                                                                                                           ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก เจ้าชายแห่งโอมาน





เข้าชม : 1224


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      9 โรคร้าย ที่มากับ น้ำท่วม & หลังน้ำท่วม 17 / ม.ค. / 2560
      คุณค่าของการถือศีลอด 2 / ก.ค. / 2557
      ปัญหาเด็กติดเกมส์ วิธีสังเกต ป้องกันและแก้ไข 6 / มี.ค. / 2557
      ข่าวไอที 25 / เม.ย. / 2554
      มันสามารถเขียนทับไฟล์ที่ลึกกว่า root ได้อีกด้วย 20 / เม.ย. / 2551


 
ศรช.บ้านเกาะมุกด์
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกันตัง
ที่อยู่ หมู่ที่ 2 บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง  เบอร์โทร 09-50280249
e-mail: ntawan29@hotmail.com

สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05