วันพืชมงคล (Royal Ploughing Ceremony) เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณ สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วันพืชมงคล 2567 ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม 2567
ประวัติวันพืชมงคล (Royal Ploughing Ceremony)
วันพืชมงคล คือวันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
พระราชพิธิพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรม 2 พิธีที่กระทำร่วมกัน คือ
- พิธีพืชมงคล
พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงาม
- พิธีแรกนาขวัญ
พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงพระราชพิธีแรกนาขวัญไว้ดังนี้
การแรกนาที่ต้องเป็นธุระ ของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมโบราณ เช่น ในเมืองจีนเมื่อสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงไถนาเองเป็นคราวแรก ส่วนจดหมาย ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่ปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอ ด้วยการนี้ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญจะได้เลี้ยงชีวิตทั่วหน้า
การแรกนาขวัญในกรุงเทพนี้ มีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลไม่ได้ยกเว้น แต่ถือเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียว ไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ครั้นต่อมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาเทพพลป่วย ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง
ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบตกเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย
ครั้นมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร แรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี และทรงเพิ่มพิธีสงฆ์นอกเหนือจากเมื่อก่อน มีเฉพาะพิธี เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่าง ๆ จึงได้เพิ่มในจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งตากหากเรียกว่าพืชมงคล พราหมณ์ และทรงสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฏร ์ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะพอจะแต่งตัวและที่เครื่องใช้ไม้สอย ติดตามไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาแรกนาและให้มีการราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าเกิดในสมัยรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา
พระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ก็มีกระบวนการแห่พระพุทธรูป ออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่บ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่พระเทวรูปพระอิศวร 1 พระอุมาภควดี 1 พระนารายณ์ 1 พระมหาวิฆเนศวร 1 พระพลเทพแบกไถ 1 กระบวนแห่ มีธง มีคู่แห่เครื่องสุงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป เป็นแต่ลดหย่อนลงมาบ้าง ออกจากพระบรมมหาราชวังไปทางบก เข้าโรงพิธีทุ่งสัมป่อยหน้าหลวง
เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทำการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง วันรุ่งขึ้นเวลาตั้งแต่เช้า กระบวนแห่ต่าง ๆ พระยาผู้แรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ 500 กระบวน เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าจุดเทียนบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งจิตอธิษฐานจับผ้า 3 ผืน เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัญฑิตคนหนึ่ง เชิญเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่งเป่าสังฆ์ 2 คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียืนประตักด้านหุ้มแดงไถดะ ไปโดนรี 3 รอบ แล้วไถแปรโดยกว้าง 3 รอบ นางเทพีทั้งสี่จึงหาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง 2 คน กระเช้าเงิน 2 คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว และไถกลบอีกสามรอบ หลังจากนั้นปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย 7 สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนาย
ความสำคัญของวันพืชมงคล
วันพืชมงคล เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเกี่ยวกับการเพาะปลูก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการเมล็ดพืชพันธุ์อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิถีการ ผลิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ นอกเหนือจาการมีแผนดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำฝนที่มีปริมาณเพียงพอ และปัจจัยอื่น ๆ แล้ว หากได้เมล็ดพืชพันธุ์ที่ได้รับการเลือกสรร รวมทั้งเกษตรกรมีขวัญกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพาะปลูก ทางราชการหรือผู้ปกครองตนให้การดูแลเอาใจใส่ การเกษตรของประเทศจะพัฒนามากยิ่งขึ้น
การเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์อย่างมาก เพราะธัญญาหารที่บรรดาเหล่าเกษตรกรปลูกได้ในแต่ละปี ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร ดัดแปลงเป็นอุปโภคต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค
ด้วยเหตุนี้ ทุกปีทางราชการจึงจัดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น โดยกำหนดในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี
การเสี่ยงทายในวันพืชมงคล
วันพืชมงคล : ผ้านุ่งแต่งกาย ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ
- ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
- ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ในวันพืชมงคล
วันพืชมงคล : ของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ
- ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควรธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
- ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับ ต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราช ประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาขวัญก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุฑูต และประชาชนจำนวนมากมาชมการแรกนาขวัญ
เมื่อเสร็จพิธี ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าว นำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกหรือเก็บไว้เป็นถุงเงินเพื่อความเป็นสิริมงคล
กิจกรรมที่ทำในวันพืชมงคล
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
- จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
หมายเหตุ วันพืชมงคลในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน
เข้าชม : 550
|