[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา
 
สภาพทั่วไปของจังหวัดตรัง
ที่ตั้งและอาณาเขต
          จังหวัดตรังอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ยาวตลอดแนวเขตจังหวัดถึง 119 กม. ประมาณเส้นรุ้งที่ 7 องศา 31 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 38 ลิปดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางถนนเพชรเกษม 828 กิโลเมตร เนื้อที่ 4,941.439 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,088,399.375 ไร่
  ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบ
  ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และ ช่องแคบมะลากา มหาสมุทรอินเดีย
  ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยมีเทือกเขาบรรทัดกั้นอาณาเขตตลอดแนว
  ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอคลองท่อม อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และมหาสมุทร อินเดีย

การปกครอง
  - จังหวัดตรังแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ
     1. อำเภอเมือง
     2. อำเภอกันตัง
     3. อำเภอห้วยยอด
     4. อำเภอย่านตาขาว
     5. อำเภอปะเหลียน
     6. อำเภอสิเกา
     7. อำเภอวังวิเศษ
     8. อำเภอนาโยง
     9. อำเภอรัษฎา
    10. อำเภอหาดสำราญ
 
  - องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 85 แห่ง  
  - เทศบาล จำนวน 14 แห่ง (เทศบาลนคร 1 แห่ง, เทศบาลเมือง 1 แห่ง, เทศบาลตำบล 12 แห่ง  
  - ตำบลมีจำนวน 87 ตำบล และ 715 หมู่บ้าน  
  - มีประชากรทั้งสิ้น 560,815 คน (ชาย 286,518 คน หญิง 289,542 คน)  
  - มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 4 คน  
ลักษณะภูมิประเทศ
          สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ สลับด้วยภูเขาใหญ่เล็กกระจัดกระจายอยู่ ทั่วไป พื้นที่ราบเรียบมีจำนวนน้อย ซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากตอนเหนือจดตอนใต้ และเป็นแนวเขตแบ่งจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีป่าชายเลนสำหรับท้องที่อยู่ติดกับทะเล มีพื้นที่เป็นเกาะจำนวน 46 เกาะ อยู่ในพื้นที่อำเภอกันตัง 12 เกาะ อำเภอปะเหลียน 13 เกาะ และอำเภอสิเกา 21 เกาะ
สภาพภูมิอากาศ
          จังหวัดตรังได้รับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนตุลาคม มกราคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน ทำให้มีฝนตกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบายจะอยู่ที่ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม
ทรัพยากรธรรมชาติ
  ทรัพยากรที่สำคัญ ของจังหวัดตรัง จำแนกตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
    - ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ทำรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างมาก ปลูกกันทั่วไปทุกอำเภอ
    - สัตว์น้ำ จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับชายทะเล ด้านมหาสมุทรอินเดีย มีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จึงอุดมไปด้วย สัตว์น้ำนานาชนิด
    - แร่ แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก ฟลูออไรด์ ถ่านหิน และแร่แบไรท์
    - ปาล์มน้ำมัน ปลูกกันมากที่อำเภอสิเกา และอำเภอวังวิเศษ
    - รังนก มีในท้องที่อำเภอกันตัง
วัฒนธรรมประเพณี
          ประชาชนชาวจังหวัดตรัง มีศรัทธายึดมั่นในศาสนาพุทธ ยิ่งกว่าศาสนาอื่น ภายในจังหวัดตรัง แต่ละอำเภอและแต่ละตำบลมีวัดศาสนาพุทธ สำนักสงฆ์เกือบทุกแห่ง ประชาชนส่วนใหญ่จะมีเชื้อสามาจากชาวจีน ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการถือศีลกินเจตามฤดูกาลที่มีตามศาลเจ้าต่าง ๆ ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยผสมจีน จริยธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี จึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างไทย - จีน ในด้านจริยธรรม คนตรังส่วนใหญ่จะเป็นคนโอบอ้อม ตรงไป ตรงมา พูดจาเปิดเผย เรียกได้ว่าเสียงดังฟังชัด เป็นเอกลักษณ์ จังหวัดตรังมีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งใน ด้านศิลปการแสดงและหัตถกรรม ศิลปการแสดง เช่น มโนราห์ หนังตะลุง ลิเกป่า ศิลปหัตถกรรม เช่น การประดิษฐ์เสื่อเตย มีดพร้า (นาป้อ) ผ้าทอพื้นเมือง (นาหมื่นศรี) และเสวียนหม้อจากก้านจาก
ศาสนา
          จำนวนร้อยละของประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ
  ศาสนาพุทธ ร้อยละ 83.42
  ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 16.09
  ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.47
  ศาสนาอื่น ร้อยละ 0.02
อาชีพที่สำคัญ
  อาชีพที่สำคัญที่ทำรายได้มาสู่จังหวัดตรัง ได้แก่
  1. การกสิกรรม พืชที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มะม่วงหิมพานต์ สะตอ กาแฟ แตงโม ถั่วลิสง ผักต่าง ๆ
  2. การประมง จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียถึง 3 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ กิ่งอำเภอหาดสำราญ อำเภอปะเหลียน อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา การประมงจังหวัดตรังให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงมาก
  3. การอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เช่น โรง งานรมควันยาง สกัดน้ำมันปาล์ม ผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ผลิตปลาบดแช่แข็ง (ซูริมิ) ฯลฯ
  4. การป่าไม้ ได้แก่ การเผาถ่านไม้
  5. การพาณิชย์ ได้แก่ การค้าส่ง ค้าปลีก ค้ากับต่างประเทศ มีสินค้าจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง T.T.R. สัตว์น้ำทะเล และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำทะเล ฯลฯ
การคมนาคม
          การคมนาคมของจังหวัดตรัง มี 3 ทาง คือ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
          1. ทางบก การคมนาคมของจังหวัดตรัง มี 2 ทาง คือ
                    1.1 ทางรถยนต์
                    1.2 ทางรถไฟ ซึ่งมีวันละ 2 ขบวน
          2. ทางน้ำ ด้วยจังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย จึงมีการคมนาคมติดต่อทางเรือกับจังหวัดต่าง ๆ และกับต่างประเทศเพื่อส่งสินค้า เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมีท่าเรือ 2 แห่ง คือ ที่อำเภอกันตัง และอำเภอปะเหลียน
          3. ทางอากาศ จังหวัดตรังมีสนามบินซึ่งสามารถรับเครื่องบินเฉพาะภายในประเทศ โดยสายการบินไทย ทุกวัน ส่วนวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ วันละ 2 เที่ยวบิน
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
          อำเภอเมืองตรัง
               สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ สระกะพังสุรินทร์ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ทุ่งน้ำผุด) ศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
          อำเภอกันตัง
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎา สวนสาธารณะควนควนตำหนักจันทร์ ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย บ่อน้ำร้อน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หาดหยงหลิง เกาะลิบง เกาะลิบง เกาะมุกและถ้ำมรกต เกาะกระดาน เกาะเชือก
          อำเภอห้วยยอด
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ ทะเลสองห้อง ถ้ำเขากอบ (ถ้ำเล) น้ำตกปากแจ่ม น้ำตกโตนคลาน
          อำเภอย่านตาขาว
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย น้ำตกสายรุ้ง น้ำตกไพรสวรรค์ น้ำตกลำปลอก
          อำเภอปะเหลียน
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ น้ำตกโตนเต๊ะ น้ำตกโตนตก น้ำตกช่องบรรพต น้ำตกเจ้าพระ น้ำตกน้ำพ่าน เกาะสุกร อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ถ้ำสุรินทร์
          อำเภอสิเกา
                   มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ หาดปากเมง หาดราชมงคล เขาเจ็ดยอด น้ำตกอ่างทอง
         อำเภอวังวิเศษ
                   มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ น้ำตกร้อยชั้นพันวัง
          อำเภอนาโยง
                   มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาช่อง อุทยานนกน้ำคลองลำชาน ถ้ำเขาช้างหาย กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี น้ำตกกะช่อง
          อำเภอรัษฎา
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ ถ้ำพระพุทธ ถ้ำพระยาพิชัย
          กิ่งอำเภอหาดสำราญ
                    มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ คือ หาดสำราญ


เข้าชม : 4964
 
 
สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดตรัง
ถนนพัทลุง ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง  จังหวัดตรัง 92000 
โทรศัพท์ 075-218440 โทรสาร 075-219016 
trang@trang.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05