ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย โดยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก มีการผลิตประมาณปีละ 3 ล้านตัน หรือร้อยละ 36 ของปริมาณการผลิตของโลก น้ำยางที่กรีดได้จากต้น เรียกว่า น้ำยางสด ซึ่งถูกนำไปผ่านกระบวนการปั่นเหวี่ยงให้ได้น้ำยางข้นเพื่อสะดวกกับการเก็บรักษาและขนส่ง ปัจจุบันมีโรงงานผลิตน้ำยางข้นอยู่ 77 โรง น้ำยางข้นส่วนใหญ่ส่งออกตลาดต่างประเทศ ส่วนที่เหลือนำไปใช้วัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ ถุงมือยาง และยางยืด เป็นต้น
น้ำยางสดหลังกรีดจากต้นคงสภาพเป็นน้ำยางอยู่ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพราะแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกรด น้ำยางเกิดการเสียสภาพ อนุภาคยางรวมตัวกันเป็นก้อน และเกิดการบูดเน่ามีกลิ่นเหม็น ในการผลิตน้ำยางข้นจึงต้องใช้สารรักษาสภาพ ทั้งในส่วนของน้ำยางสดก่อนการแปรรูปและน้ำยางข้นหลังการแปรรูปโดยแอมโมเนีย ซึ่งระเหยง่ายและมีกลิ่นรุนแรงมาก เมื่อระเหยสู่บรรยากาศทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม น้ำยางที่อยู่ระหว่างการเก็บรักษามีคุณสมบัติไม่คงที่ และการใช้แอมโมเนียปริมาณมากในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อให้เกิดปัญหาในการแปรรูปน้ำยางด้วย ดังนั้นการพัฒนาหาสารเคมีที่ช่วยในการรักษาสภาพของน้ำยางชนิดใหม่ทดแทนแอมโมเนียจึงเป็นสิ่งสำคัญ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์