บันทึกอาเซียน ASEAN DIARY
10 สุดยอดเหตุผล : อาเซียนสำคัญต่อไทย
ตลอด สัปดาห์นี้ประเทศไทยและชาวไทยจะมีโอกาสต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนและคณะผู้ แทน ตลอดจนสื่อมวลชนจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน ที่จะมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดเหตุผลว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้สำคัญอย่างไรต่อไทย
1. เพราะว่าคนไทยเป็นผู้ริเริ่มและผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 41 ปีที่แล้วที่ประเทศไทยโดยดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้ชักชวนเพื่อนรัฐมนตรีจาก ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาร่วมหารือ และเห็นพ้องต้องกันที่ประเทศในภูมิภาคนี้ควรรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ด้านความ มั่นคง ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ที่พระราชวังสราญรมย์ (ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ต่อมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม, เวียดนาม, ลาว, พม่า และ กัมพูชา ก็ได้ทยอยเข้าเป็นสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ ในปี พ.ศ.2552
2. เพราะว่าประเทศไทยได้เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 และจะมีวาระไปจนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 การทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในครั้งนี้มีระยะเวลายาวนานกว่าปกติเพื่อ ให้สอดคล้องตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ให้อาเซียนเริ่มทำงานตามปฏิทินสากล เริ่มจากเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม แต่การดำรงตำแหน่งในคราวนี้เพิ่มอีก 6 เดือน เป็นหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งถือเป็นความไว้วางใจที่เพื่อนสมาชิกอาเซียนมอบให้แก่เรา
3. เพราะว่ากฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นธรรมนูญของอาเซียน ได้มีผลใช้บังคับในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนนับตั้งแต่ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กฎบัตรอาเซียนเป็นความตกลงระหว่างประเทศ สมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศที่กำหนดเป้าหมาย หลักการ โครงสร้างองค์กร และกลไกที่สำคัญ ๆ ของอาเซียน และทำให้อาเซียนมีสถานะนิติบุคคลหรือบรรลุนิติภาวะ ทั้งนี้กฎบัตรอาเซียนจะช่วย (1) เพิ่มประสิทธิภาพให้อาเซียนสามารถรวมตัวเป็นประชาคมได้สำเร็จในปี พ.ศ.2558 หรือ 7 ปีข้างหน้า (2) สร้างกลไกให้สมาชิกอาเซียนได้ปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้ และ (3) ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชน และให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างแท้จริง
4. เพราะว่าในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอยู่นี้คนไทยก็ได้เข้าดำรงตำแหน่ง เลขาธิการอาเซียน โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2551 โดยจะดำรงตำแหน่งตามวาระ 5 ปี จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 เลขาธิการอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประชาคมอาเซียน บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
5. เพราะว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ผู้นำอาเซียนทั้งสิบจะลงนามใน ปฏิญญาว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2522-2558 ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปฏิญญากรุงเทพฯเมื่อก่อตั้งอาเซียน กล่าวได้ว่า 41 ปีผ่านไป อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่สอง จากความร่วมมือและการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มาบัดนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะสร้างประชาคมอาเซียนให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า ประชาคมดังกล่าวเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของอาเซียน ซึ่งนอกจากจะมีสามเสาหลัก ได้แก่เสาหลักการเมืองและความมั่นคง เสาหลักเศรษฐกิจ และเสาหลักสังคมและวัฒนธรรม แล้ว ยังมีอีกเสาหนึ่งที่หยั่งรากลึกในการปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ไม่ว่าจะอยู่ในกรอบอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) หรือในกรอบที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งมีถึง ประเทศ ได้แก่อาเซียน 10 ประเทศ บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาทั้งหลาย คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ
การ เป็นประชาคมที่สมบูรณ์จะทำให้ประเทศอาเซียนมีความมั่นคงปลอดภัย มีสันติสุข ประชาชนอาเซียน 570 คน มีโอกาสทางเศรษฐกิจ มีตลาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำมาค้าขาย ลงทุน ทำให้มีรายได้มากขึ้น
6. เพราะว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาเซียนมีกฎบัตรของตัวเอง เพื่อให้อาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ กำลังหมุนตัวอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศคู่เจรจาทั้งหลาย
7. เพราะอาจกล่าวได้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ริเริ่มให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการ ประชุมสุดยอด ทั้งนี้จะมีการต้อนรับผู้แทน 3 กลุ่ม ได้แก่ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน กลุ่มเยาวชนอาเซียน ผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน จากประเทศสมาชิก ให้เข้ามาพบผู้นำอาเซียนทั้งสิบประเทศ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น จากนี้ไปไทยหวังว่าเสาหลักทางด้านสังคมซึ่งมีประชาชนอาเซียนเป็นฐานที่สำคัญ จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆในกิจกรรมอาเซียน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันและช่วยกันเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้ม แข็ง
8. เพราะการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลาง สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ตั้งแต่ วิกฤติการณ์น้ำมัน วิกฤติการณ์ด้านอาหาร วิกฤติการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เรียกติดปาก “วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์” ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
อา เซียนจะรับมืออย่างไร และไทยในฐานะประธานจะมีข้อริเริ่มอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ได้ร่วมประชุมสมัยพิเศษที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อหารือถึงมาตรการในการรับมือกับ วิกฤติเศรษฐกิจ โดยข้อริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiatives-CMI) ที่ไทยได้เคยริเริ่มไว้ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า “วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง” เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จะได้รับการขยายผลและต่อยอดอีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมครั้งนี้
9. เพราะว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่นานาประเทศมีต่อไทย จึงเป็นโอกาสดีที่เพื่อนสมาชิกอาเซียนและสื่อมวลชนจากทั่วโลกจะได้มาเห็น ด้วยตัวเองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติและมีเสถียรภาพแล้ว หากจะมีการแสดงออกของกลุ่มต่าง ๆ ก็จะอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
10. เพราะการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ คือการกลับคืนสู่เหย้า ณ จุดกำเนิดของอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนสมาชิกรอคอย ดังนั้นอย่าให้แขกบ้านแขกเมืองของเราผิดหวัง ช่วยกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ด้วยการให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยไมตรีจิต ที่สำคัญคือ ความประทับใจในความเป็นไทยของเรา เพราะท่านเหล่านี้จะกลับมาประเทศไทยอีกหลายครั้งในช่วงที่เราเป็นประธานอา เซียน จนถึงปลายเดือนธันวาคมปีนี้
วิทวัส ศรีวิหค
อธิบดีกรมอาเซียน, กระทรวงการต่างประเทศ
24 กุมภาพันธ์ 2552
|