[x] ปิดหน้าต่างนี้
 


         


 

  

บทความทั่วไป
ประเภทของผู้พิการ

พุธ ที่ 30 เดือน เมษายน พ.ศ.2557

คะแนน vote : 280  





คนพิการหมายถึงคนที่มีความผิดปกติ หรือบกพร่องทางร่างกายทางสติปัญญา หรือทางจิตใจ(1)

International Classification of Functioning, Disability and Health (ICF)(2)ได้ให้ความหมายของความพิการ คือสิ่งที่ส่งผลให้บุคคลมีความบกพร่อง (Impairments) ข้อจำกัดในการทำกิจกรรม (Activity limitations) และข้อจำกัดในการมีส่วนร่วม (Participation restrictions) ดังนี้

  • ความบกพร่อง (Impairment) หมายถึง การสูญเสียหรือความผิดปกติของโครงสร้างของร่างกายหรือการใช้งานของร่างกาย (รวมถึงการทำงานด้านจิตใจ) ที่สังเกตหรือ เห็นได้ชัดดังนั้นความบกพร่องจะพิจารณาที่ "อวัยวะ" หรือ"ระบบการทำงาน" ของส่วนต่างๆของมนุษย์เช่นตาบอดหูหนวกเป็นใบ้อัมพาตออทิสติก เป็นต้น
  • ข้อจำกัดในการทำกิจกรรม (Activity limitation) หมาย ถึง ความยากลำบากในการกระทำกิจกรรมของแต่ละบุคคล เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติในวัยเดียวกันควรจะทำได้ อาจมีความยากลำบากได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับมากดังนั้นข้อจำกัดใน การทำกิจกรรมจะพิจารณาที่ "ความสามารถ" ของบุคคลโดยรวมว่าสามารถทำกิจกรรมหนึ่งๆจนเสร็จสิ้นได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องทำด้วยความลำบากหรือไม่โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นมีความบกพร่อง อะไรบ้าง
  • ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วม (Participation restriction) หมาย ถึง ปัญหาที่บุคคลประสบเมื่ออยู่ในสถานการณ์หนึ่งของชีวิตโดยเปรียบเทียบสิ่งที่ บุคคลนั้นทำได้กับสิ่งที่คาดหวังว่าบุคคลที่ไม่มีความพิการสามารถทำได้ใน สังคม หรือวัฒนธรรมเดียวกันเช่นการประกอบอาชีพการเดินทาง การดูแลบุตรการทำงานบ้านและการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เป็นต้น

ประเภทของคนพิการ

จากการให้ความหมายของความพิการข้างต้น ทำให้สามารถแบ่งประเภทของผู้พิการได้เป็น 5ประเภท โดยกระทรวงสาธารณะสุข (3) ได้แก่

  1. คนพิการทางการมองเห็น ได้แก่
    (ก) คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วมองเห็นน้อยกว่า6/18 หรือ20/70ลงไปจนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่างหรือ
    (ข) คนที่มีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา
  2. คนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย ได้แก่
    (ก) คนที่ได้ยินเสียงที่ความถี่ 500 เฮิรตซ์ 1000 เฮิรตซ์หรือ 2000 เฮิรตซ์ในหูข้างที่ดีกว่าที่มีความดังเฉลี่ยดังต่อไปนี้
    (1) สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เกิน 40 เดซิเบลขึ้นไปจนไม่ได้ยินเสียง
    (2) สำหรับคนทั่วไปเกิน 55 เดซิเบลขึ้นไปจนไม่ได้ยินเสียงหรือ
    (ข) คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูดจนไม่สามารถสื่อความหมายกับคนอื่นได้
  3. คนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว ได้แก่
    (ก) คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจนและไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันได้หรือ
    (ข) คนที่มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวมือแขนขาหรือลำตัวอันเนื่องมาจากแขนหรือขาขาดอัมพาตหรืออ่อนแรงโรคข้อหรืออาการปวดเรื้อรังรวมทั้งโรคเรื้อรังของระบบการทำงานของร่างกายอื่นๆที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันหรือดำรงชีวติในสังคมเยี่ยงคนปกติได้
  4. คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ได้แก่ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้อารมณ์ความคิดจนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเองหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น
  5. คนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ได้แก่ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทาง สติปัญญาหรือสมองจนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้

การจำแนกประเภทคนพิการตามกฎกระทรวงของกระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยจะสอดคล้องกับการจัดการศึกษาพิเศษให้คนพิการตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลกระทรวงศึกษาธิการ(4) จึงได้จำแนกคนพิการตามความต้องการจำเป็นทางการจัดการศึกษาเป็น 9 ประเภท ดังนี้

1. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น หมายถึง บุคคลที่สูญเสียการเห็นตั้งแต่ระดับ 
เล็กน้อยจนถึงตาบอดสนิทอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 
1.1 คนตาบอด หมายถึง คนที่สูญเสียการเห็นมากจนต้องสอนให้อ่านอักษรเบรลล์หรือใช้วิธีการฟังเทปหรือแผ่นเสียงหากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดีเมื่อแก้ไขแล้วอยู่ในระดับ 6 ส่วน 60หรือ 20ส่วน 200 (20/200) ลงมาจนถึงบอดสนิท (หมายถึง คนตาบอดสามารถมองเห็นวัตถุได้ในระยะห่างน้อยกว่า 6 เมตรหรือ 20 ฟุต ในขณะที่คนปกติสามารถมองเห็นวัตถุเดียวกันได้ในระยะ 60 เมตรหรือ 200 ฟุต) หรือมีลานสายตาแคบกว่า 20 องศา (หมายถึง สามารถมองเห็นได้กว้างน้อยกว่า 20 องศา)
1.2 คนเห็นเลือนลาง หมายถึง คนที่สูญเสียการเห็นแต่ยังสามารถอ่านอักษรตัวพิมพ์ที่ขยายใหญ่ได้หรือต้องใช้แว่นขยายอ่านหากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดี เมื่อแก้ไขแล้วอยู่ในระดับระหว่าง6 ส่วน 18 (6/18) หรือ20 ส่วน 70 (20/70) ถึง 6 ส่วน 60 (6/60) หรือ 20 ส่วน 200 (20/200) หรือมีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา

2.บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง คนที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับรุนแรงจนถึงระดับน้อยอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 คนหูหนวก หมายถึง คนที่สูญเสียการได้ยินมากจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยินไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องช่วยฟังก็ตามโดยทั่วไป หากตรวจการได้ยินจะสูญเสียการได้ยินประมาณ 90 เดซิเบลขึ้นไป (เดซิเบลเป็นหน่วยวัดความดังของเสียง หมายถึง เมื่อเปรียบเทียบระดับเริ่มได้ยินเสียงของเด็กปกติเมื่อเสียงดังไม่เกิน25เดซิเบลคนหูหนวกจะเริ่มได้ยินเสียงดังมากกว่า 90 เดซิเบล)
2.2 คนหูตึง หมายถึง คนที่มีการได้ยินเหลืออยู่พอเพียงที่จะรับข้อมูลผ่านทางการได้ยินโดยทั่วไปจะใส่เครื่องช่วยฟังและหากตรวจการได้ยินจะพบว่ามีการสูญเสียการได้ยินน้อยกว่า 90 เดซิเบลลงมาจนถึง26 เดซิเบล คือ เมื่อเปรียบเทียบระดับเริ่มได้ยินเสียงของเด็กปกติเมื่อเสียงดังไม่เกิน 25 เดซิเบล เด็กหูตึงจะเริ่มได้ยินเสียงที่ดังมากกว่า 26 เดซิเบลขึ้นไปจนถึง 90 เดซิเบล

3. บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง คนที่มีพัฒนาการช้ากว่าคนปกติทั่วไปเมื่อวัดสติปัญญาโดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานแล้วมีสติปัญญาต่ำกว่าบุคคลปกติและความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่ำกว่าเกณฑ์ปกติอย่างน้อย 2 ทักษะหรือมากกว่า เช่น ทักษะการสื่อความหมายทักษะทางสังคมทักษะการใช้สาธารณสมบัติการดูแลตนเองการดำรงชีวิตในบ้านการควบคุมตนเองสุขอนามัยและความปลอดภัยการเรียนวิชาการเพื่อชีวิตประจำวันการใช้เวลาว่างและการทำงานซึ่งลักษณะความบกพร่องทางสติปัญญาจะแสดงอาการก่อนอายุ 18 ปี

4. บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ หมายถึง คนที่มีอวัยวะไม่สมส่วนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนขาดหายไปกระดูกและกล้ามเนื้อพิการเจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรงมีความพิการระบบประสาทมีความลำบากในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาในสภาพปกติทั้งนี้ไม่รวมคนที่มีความบกพร่องทางประสาทสัมผัสได้แก่ตาบอดหูหนวกอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
4.1 โรคของระบบประสาท เช่น ซีรีบรัลพัลซี (Cerebral Palsy) หรือโรคอัมพาตเนื่องจากสมองพิการโรคลมชักมัลติเพิลสเคลอโรซีส (MulitipleSclerosis)
4.2 โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ข้ออักเสบเท้าปุกโรคกระดูกอ่อนโรคอัมพาตกล้ามเนื้อลีบหรือมัสคิวลาร์ดิสโทรฟี (Muscular Dystrophy) กระดูกสันหลังคด
4.3 การไม่สมประกอบมาแต่กำเนิด เช่น โรคศีรษะโตสไปนาเบฟฟิดา (SpinaBifida) แขนขาด้วนแต่กำเนิดเตี้ยแคระ
4.4 สภาพความพิการและความบกพร่องทางสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ สภาพความพิการอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและโรคติดต่อ เช่น ไฟไหม้แขนขาขาด โรคโปลิโอ โรคเยื่อบุสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสและอันตรายจากการคลอดความบกพร่องทางสุขภาพ เช่น หอบหืด โรคหัวใจ วัณโรคปอด ปอดอักเสบ

5. บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หมายถึง คนที่มีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในกระบวนการพื้นฐานทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับความเข้าใจหรือการใช้ภาษาอาจเป็นภาษาพูดและ/หรือภาษาเขียน ซึ่งจะมีผลทำให้มีปัญหาในการฟัง การพูด การคิด การอ่าน การเขียน การสะกดหรือการคิดคำนวณรวมทั้งสภาพความบกพร่องในการรับรู้สมองได้รับบาดเจ็บการปฏิบัติงานของสมองสูญเสียไปซึ่งทำให้มีปัญหาในการอ่านและปัญหาในการเข้าใจภาษา ทั้งนี้ไม่รวมคนที่มีปัญหาทางการเรียน เนื่องจากสภาพบกพร่องทางการเห็นการได้ยินการเคลื่อนไหวปัญญาอ่อนปัญหาทางอารมณ์หรือความด้อยโอกาสเนื่องจากสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ

6. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา หมายถึง คนที่มีความบกพร่องในเรื่องของการออกเสียงพูด เช่น เสียงผิดปกติ อัตราความเร็วและจังหวะการพูดผิดปกติหรือคนที่มีความบกพร่องในเรื่องความเข้าใจและหรือการใช้ภาษาพูดการเขียนและหรือระบบสัญลักษณ์อื่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารซึ่งอาจเกี่ยวกับรูปแบบของภาษาเนื้อหาของภาษาและหน้าที่ของภาษา 
7. บุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมากและปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมหรือวัฒนธรรม

8. บุคคลออทิสติก หมายถึง บุคคลที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคมภาษาและการสื่อความหมายพฤติกรรมอารมณ์และจินตนาการ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่บางส่วนของสมองที่ผิดปกติไปและความผิดปกตินี้พบได้ก่อนวัย 30 เดือนและมีลักษณะที่สำคัญคือมีความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์ทางสังคมการสื่อสารพฤติกรรมและอารมณ์การรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าการใช้อวัยวะต่างๆ อย่างประสานสัมพันธ์การจินตนาการและมีความสนใจที่สั้น เป็นต้น

9. บุคคลพิการซ้อน หมายถึง คนที่มีสภาพความบกพร่องหรือความพิการมากว่าหนึ่งประเภทในบุคคลเดียวกันเช่นคนปัญญาอ่อนที่สูญเสียการได้ยิน เป็นต้น

ซึ่งจากความหมายและการแบ่งประเภทของผู้พิการข้างต้น หากผู้พิการได้รับการลงทะเบียนตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 มาตรา 14 แล้วก็จะได้รับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ แตกต่างกันไปตามประเภทของความพิการทำให้ผู้พิการเข้าถึงการคุ้มครองดูแลได้อย่างเหมาะสม และได้รับการดูได้ทั่วถึงมากขึ้น

เรียบเรียงโดย กภ.ปิยะฉัตร มีหนุน

อ้างอิงจาก

  • พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 มาตรา 4.
  • Leonard, M. Definition of Disability: the contribution of EU-MHADIE project to the international debate. [online]. 2006. [cited 2006 July 28]; Available from: URL: www.mhadie.it/getDocument.aspx?FileID=158.
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534.
  • พวงแก้ว กิจธรรม . ประเภทของคนพิการ.[online] 2549 [cited 2549 November]; Available from:URL:http://sichon.wu.ac.th/file/pt-shh-20110120-171550-LGxcP.pdf.

 


เข้าชม : 2760


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      ประเภทของผู้พิการ 30 / เม.ย. / 2557
      ชื่อโครงการ 10 / ก.ค. / 2551
      Concept คุณจะสร้างเวบเกี่ยวกับอะไร 4 / ก.พ. / 2551
      สธ.พบคนงานเจียรหินแถวเขายายเที่ยงดับด้วยโรคปอดหินคนแรกของประเทศ 22 / ม.ค. / 2551


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอห้วยยอด 
30 ถนนมหามิตร ตำบลห้วยยอด  อำเภอห้วยยอด  จังหวัดตรัง 92130 โทรศัพท์ 0-7527-1718 โทรสาร 075-271718 
 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05