[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 


บทความสุขภาพ
่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา / ภาวะปัญญาอ่อน (Intellectual Disabilities / Mental Retardation)

พุธ ที่ 19 เดือน มีนาคม พ.ศ.2557

 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา / ภาวะปัญญาอ่อน

(Intellectual Disabilities / Mental Retardation)

-----------------------------------------------------------------
                   




ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่องซึ่งทำให้มีข้อจำกัด  ด้านสติปัญญา การเรียนรู้และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้คำว่าบกพร่องทางสติปัญญาแทน ภาวะปัญญาอ่อนมากขึ้นในองค์กรระดับนานาชาติ เช่น IASSID (International Association  for the Scientific Study of Intellectual Disabilities) WHO  (World Health Organization) WPA (World Psychiatry  Association) รวมทั้ง AAMR (The American Association on Mental Retardation) หรือสมาคมบุคคลปัญญาอ่อนแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยสหวิชาชีพจากทั่วโลกแลก่อตั้งมาเป็นเวลานาน 130 ปี ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The  American Association of  Intellectual  and  Developmental   Disabilities (AAIDD) เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เพื่อเสนอแนวทางที่จะทำให้สังคมยอมรับผู้บกพร่องทางสติปัญญามากขึ้น

 

คำจำกัดความของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน

            ตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision (DSM- IV-TR) โดย American Psychiatric Association (APA) ในปี พ.ศ. 2543 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือภาวะปัญญาอ่อน หมายถึง ภาวะที่มี


1.ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย      
2. พฤติกรรมการปรับตนบกพร่องตั้งแต่ 2 ด้านขึ้นไป จากทั้งหมด 10 ด้าน
3.อาการแสดงก่อนอายุ 18 ปี

 

ความชุก

โดยทั่วไปพบบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาร้อยละ 1-3 ของประชากร ในประเทศไทยพบความชุกของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาประมาณร้อยละ 0.4-4.7 ตามแต่ละรายงานซึ่งมีความแตกต่างกันในระเบียบวิธีวิจัย

สาเหตุของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

             1. ปัจจัยทางพันธุกรรม  

             2.  ความผิดปกติในระหว่างการพัฒนาของทารกในครรภ์ 

            3. ปัญหาต่างๆในระยะตั้งครรภ์และคลอด

            4. ปัญหาต่างๆในระยะหลังคลอด  เช่น สมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  การบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง  เป็นต้น

            5. ปัจจัยต่างๆจากสิ่งแวดล้อมและความผิดปกติทางจิตอื่นๆ ได้แก่ ความยากจนและครอบครัวแตกแยก

 

การแบ่งประเภทของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

อาจแบ่งตามระดับความรุนแรง สาเหตุหรือความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาต้องการ

การแบ่งระดับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ตามความช่วยเหลือที่บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาต้องการ

เป็นการแบ่งตาม American of Mental Retardation(AAMR) ซึ่งไม่ได้เน้นที่ระดับเชาวน์ปัญญา

แต่พิจารณาพฤติกรรมการปรับตน 10 ข้อ แต่การแบ่งวิธีนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่

-ต้องการความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว(intermittent)

-ต้องการความช่วยเหลือปานกลาง(limited)

-ต้องการความช่วยเหลือมาก(extensive)

-ต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา(pervasive)

 

การดูแลบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

            แม้ว่าเมื่อเกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว จะไม่อาจรักษาสมองส่วนที่เสียไปให้กลับคืนมาทำงานได้ตามปกติก็ตาม แต่ก็สามารถจะคงสภาพ หรือฟื้นฟูสภาพทางสมองส่วนที่คงเหลืออยู่ให้ทำงานได้เต็มที่ ดังนั้น การรักษาภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จึงเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและร่างกาย มากกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว การวินิจฉัยให้ได้เร็วที่สุดและการฟื้นฟูสมรรถภาพทันทีที่วินิจฉัยได้ จะช่วยหยุดยั้งความพิการมิให้เพิ่มขึ้น เป้าหมายของการรักษาภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจึงมิใช่มุ่งรักษาให้หายจากโรค  แต่เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ให้ช่วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมมากเกินไป  และสามารถประกอบอาชีพได้ 

 การฟื้นฟูสมรรถภาพในบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา  มีดังนี้ 

1. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical Rehabilitation)

          การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ได้แก่ การรักษาโรคที่เกิดร่วมกับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา การแก้ไขความพิการและการฟื้นฟูสภาพทางร่างกาย เช่น โรคลมชัก Cretinism, PKU, cerebral palsy นอกจากการใช้ยารักษาตามอาการแล้ว ยังต้องการบำบัดด้วย

 

กายภาพบำบัด

          เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญามักจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย(motor development) ช้ากว่าวัย นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาขนาดหนักและหนักมาก ส่วนใหญ่ก็จะมีความพิการทางระบบประสาทส่วนกลาง(central nervous system) ด้วย ทำให้มีการเกร็งของแขน ขา ลำตัว จึงจำเป็นต้องแก้ไขอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เพื่อช่วยลดการยึดติดของข้อต่อ และการสูญเสียกล้ามเนื้อ เด็กจะช่วยตัวเองได้มากขึ้น เมื่อเจริญวัยขึ้น

 กิจกรรมบำบัด

          การฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ การใช้มือหยิบจับสิ่งของ ฝึกการทำงานของตาและมือให้ประสานกัน(eye-hand co-ordination) เด็กสามารถหยิบจับสิ่งของ เช่น จับถ้วยกินน้ำ จับแปรงสีฟัน หยิบช้อนกินข้าว การรักษาทางกิจกรรมบำบัด จะช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกขึ้น

       

อรรถบำบัด

          เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาเกินกว่าร้อยละ 70 มีปัญหาการพูดและการสื่อความหมาย กระบวนการฝึกในเรื่องนี้ มิใช่เพื่อให้เปล่งสำเนียงเป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่จะเริ่มจากเด็กต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อช่วยพูด บังคับกล้ามเนื้อเปล่งเสียง ออกเสียงให้ถูกต้อง ซึ่งการฝึกพูดต้องกระทำตั้งแต่เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุด

 

 2. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation)

          ในสองทศวรรษมานี้ ความเชื่อว่าการศึกษาหมายถึงการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ชีวิตที่ยืนยาวนอกโรงเรียน ทำให้รูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษาของบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาเปลี่ยนแปลงไปมาก  การสอนด้านวิชาการในห้องเรียนปีแล้วปีเล่า แต่เมื่อเดินออกจากห้องเรียนเด็กก็จะลืมนั้นไม่มีประโยชน์ต่อบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จึงควรสนับสนุนให้ได้เรียนรู้ชีวิตในสังคมร่วมกับบุคคลปกติ ความเป็นเพื่อนช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนที่เขามีชีวิตอยู่ การศึกษาในปัจจุบันจึงเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาเรียนร่วมกับบุคคลปกติมากที่สุด ระบบการจัดห้องเรียน หลักสูตรและการประเมินผล ต้องมีการเปลี่ยนแปลง  เพื่อช่วยให้บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาได้มีโอกาสเรียน มิใช่เพื่อการคัดออก จากชั้นเรียน  การจัดการศึกษาพิเศษเฉพาะบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาล้วนๆ (Special Education) จะจัดให้เท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้นแต่จะส่งเสริมการจัดการเรียนร่วม และการเรียนรวม(Integration and Inclusion Education) ให้มากที่สุด

 

3. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation)

          การเตรียมฝึกอาชีพให้แก่บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา อายุ 15-18 ปี เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการประกอบอาชีพในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ ฝึกการตรงต่อเวลา รู้จักรับคำสั่งและนำมาปฏิบัติเอง โดยไม่ต้องมีผู้เตือน การปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงานและมารยาทในสังคม เมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่ควรช่วยเหลือให้ได้มีอาชีพที่เหมาะสม  อาชีพที่บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาสามารถทำได้ดี ได้แก่ อาชีพงานบ้าน งานบริการ งานในโรงงาน งานในสำนักงาน เช่น การรับส่งหนังสือ ถ่ายเอกสาร เป็นต้น
 
คำแนะนำ

          การฝึกสอนบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญามีจุดมุ่งหมายสูงสุด เพื่อให้ได้มีความเป็นอยู่ใกล้เคียงคนปกติ ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่อไปนี้ คือ

 

          1.ระดับของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาขนาดน้อย มีโอกาสจะพัฒนาให้สามารถดำเนินชีวิต ใกล้เคียงบุคคลปกติได้ดีกว่า ผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาขนาดปานกลางหรือขนาดหนัก

          2.อาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้ไม่ประสบผลดีเท่าที่ควร

          3.การส่งเสริมพัฒนาการ ถ้าเด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในวัยเยาว์ จะมีความพร้อมในการเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนทั่วไป มากกว่าการฝึกเมื่อเด็กโตแล้ว

          4.ความร่วมมือของครอบครัวเด็ก ครอบครัวมีความสำคัญต่อเด็กมากที่สุด ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต จึงควรจะเตรียมครอบครัวให้เข้าใจความพิการของเด็ก ข้อจำกัดของความสามารถ ความต้องการพิเศษ ความคาดหวัง ตลอดจนวิธีการอบรมเลี้ยงดูและฝึกสอนในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างยิ่ง               
 
บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาสามารถเรียนรู้ และดำเนินชีวิตอย่างทัดเทียมและมีความสุขในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติ ถ้าสังคมเปิดโอกาสและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม อันจะเอื้ออำนวยให้บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า  

ที่มา
     dek-dee.tht.in/images/Mental-Retardation.doc


เข้าชม : 3141

บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่่ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา / ภาวะปัญญาอ่อน (Intellectual Disabilities / Mental Retardation) 19 / มี.ค. / 2557


 

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองตรัง
ถนนพัทลุง ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง  จังหวัดตรัง 92000 
โทรศัพท์ 075-216886 โทรสาร 075-216886    
   
E-mail : wannisa_happy@hotmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05