[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
๕ ธันวาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พุธ ที่ 26 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2557


 ๕ ธันวาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 


ธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
[พระราชประวัติ]  [พระราชกรณียกิจ]  [กิจกรรมที่ปฏิบัติ]
 
   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 

  พระราชประวัติ
        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาน์ออเบิอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเชตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ จนถึง พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์


         วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต เดิมทีพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าจะครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาจัดงานพระบรมศพพระบรมเชษฐาให้สมพระเกียรติ เพราะขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 18 พรรษาเศษ ไม่เคยเตรียมพระองค์เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์มาก่อนเลย แต่ด้วยความจงรักภักดีของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระองค์อย่างแน่นแฟ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงศึกษาต่อ และทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม


เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการเพิ่มเติม เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 ระหว่างประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง พระองค์ทรงได้ยินราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" 
พระองค์ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า
"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 
หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบชายผู้ตะโกนทูลพระองค์ในครั้งนั้น เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ชายผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า ที่เขาร้องเช่นนั้น เพราะรู้สึกว่าเหว่และใจหายที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย เขาเห็นพระพักตร์เศร้ามาก จึงร้องไปเหมือนคนบ้า พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า
 "นั้นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"


        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"   และพระองค์ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่หัวใจของชาวไทยทุกดวงแล้วว่า พระองค์ได้ทรงอุทิศทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังความคิดในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ เพื่อความผาสุกของพสกนิกรของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมอาชีพ การเกษตร การอุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข และการต่างประเทศ ฯลฯ


         นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้เสด็จออกไปเยี่ยมเยียนราษฎรในถิ่นทุรกันดารเพื่อความรับทราบความ เดือดร้อนและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ในคราวที่เกิดสาธารณภัยต่าง ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม ลมพายุพัดบ้านเรือนราษฎรให้ได้รับความเสียหาย พระองค์จะทรงห่วงใยและอาทรในความเดือนร้อนของพวกเขาเหล่านั้น ทรงรับสั่งให้มีการช่วยเหลือและพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นการ ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
 

            


          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทำให้เหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า มอบความจงรักภักดีต่อพระองค์ด้วยการทูลไว้เหนือเกล้า เมื่อถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ทางราชการและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลอง และประกอบสาธารณกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งยังถือเอา
วันที่ ๕ ธันวามคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกด้วย
 

    


          ในวันนี้ จะมีการประดับไฟตามสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือนราษฎรทั่วไป ในกรุงเทพฯ ประชาชนจะพร้อมใจกันมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ส่วนในต่างจังหวัดก็จัดให้มีการชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมจุดเทียนชัย และร้องเพลงสดุดีมหาราชากระหึ่มพร้อมกันทั่วประเทศโดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทุกช่อง
 

     พระราชกรณียกิจ


     ด้านการศึกษา 
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศและพัฒนาให้ประชาชนภายในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า "การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญ" ทรงส่งเสริมการศึกษาของประชาชนในชาติทั้งในเมืองและในชนบทถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพระราชทานโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายโครงการ ได้แก่

 ทุนอานันทมหิดล
 โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
 โรงเรียนสอนเด็กที่ประสบเคราะห์กรรม
โรงเรียนร่มเกล้า
โรงเรียนราชประชาสมาสัย
โครงการสารานุกรมไทย
โครงการพระดาบส

      ด้านการพัฒนาชนบท 
 
       จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎร ในถิ่นทุรกันดารทำให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ เป็นต้น โดยเฉพาะการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้ไม่สามารถนำความเจริญต่าง ๆ เข้าไปถึงได้ จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาช่วยเหลือให้ประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทรงเน้นการพัฒนาอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจะต้องสร้างพื้นฐานให้มั่นคงก่อน และประการสำคัญจะต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ ต่อมาจึงพัฒนาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ วิธีการดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างความสำเร็จในแนวพระราชดำรินี้ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ เป็นต้น นักวิชาการทั้งหลายต่างก็ยอมรับกันว่าแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำรินี้ จะเป็นการพัฒนาประเทศแบบกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนผู้ยากไร้ในชนบท ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างดี ทรงก่อตั้งศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้มีความเจริญมากขึ้น ศูนย์พัฒนาอันเนื่องมากจากพระราชดำริมีทั้งหมด 6 ศูนย์ ได้แก่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนตามแนวพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 
ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต.ห้วยทราย จ.เพชรบุรี 
ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านนกเค้า ต.ห้วยขวาง อ.เมือง จ.สกลนคร

     ด้านสาธารณสุข 
        การเสด็จเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารบ่อยครั้ง ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบเห็นประชาชนที่เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก จึงทรงก่อตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลและยากจน ขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การที่มีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผุ้ป่วยทำให้ราษฎรได้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด รวมถึงโครงการอบรมหลักสูตร หมอหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกนอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ เช่น โรงพยาบาลนราธิวาสโรงพยาบาลสกลนคร และโรงพยาบาลค่ายกาวิละจัดเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรที่เข้ารับการอบรมแล้วนำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง การอบรมจะเน้นเรื่องการสาธารณสุข เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันโรคอย่างง่าย การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐบาลเป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงให้จัดชุดหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นต้น


      
ด้านการเกษตร 
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการเกษตรมาตั้งแต่ขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยทรงเห็นว่า ราษฎรส่วนใหญ่ในประเทศประกอบอาชีพหลัก คือ การเกษตรเป็นสำคัญ โดยมีพระราชดำริให้เกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้น ทรงได้ค้นคว้าทดลองสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น วิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชปรับปรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช โครงการด้านการเกษตรที่ทรงตั้งขึ้น มีดังต่อไปนี้

โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเลี้ยงปลา ในปี พ.ศ. 2495 ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศในสระหน้าพระที่นั่งอุดรในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน
นาข้าวทดลอง ในปี พ.ศ. 2505 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวดีสำหรับนาดำ มาปลูกทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา
โรงโคนมสวนจิตรลดา
โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา

ห้องปฏิบัติการเนื้อเยื่อ 
สวนสมุนไพร ในปี พ.ศ. 2529 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
โรงเห็ด ในปี พ.ศ. 2531 
การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา
การเกษตรแบบยั่งยืน

     ด้านการชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ 

เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรม หากเกิดความขาดแคลนหรือมีมากจนท่วมไร่นา ก็จะทำให้พืชผลได้รับความเสียหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเริ่มโครงการชลประทานตามพระราชดำริขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากกรมชลประทานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาหาข้อมูลเพื่อพิจารณาจัดสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งนี้พระองค์จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นน้ำลำธารจริง ๆ และตรวจสอบกับชาวบ้านเพื่อความถูกต้องของข้อมูลด้วยพระองค์เอง ก่อนจะทรงกำหนดแนวทางในการแก้ไขให้กรมชลประทานและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

 

     ด้านการทหาร 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ทรงตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่ทำหน้าปกป้องบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังประสบกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และขบวนการโจรก่อการร้ายต่าง ๆ ในช่วงราวปีพุทธศักราช 2515 - 2520 ได้ทรงเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนทหาร ตำรวจ ตลอดจนอาสาสมัครที่ปฏิบัติราชการอยู่ตามแนวชายแดนเป็นประจำ พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพและเวชภัณฑ์ให้กับบรรดาทหารหาญเหล่านั้นด้วย 
        และเมื่อทหารเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็จะเสด็จฯ เยี่ยมด้วยพระองค์เอง สำหรับทหารที่พิการทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการสู้รบป้องกันชาติก็โปรดฯ ให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพและฝึกฝนด้านงานอาชีพ เพื่อสามารถหาเลี้ยงชีพช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป ในกรณีที่ทหารเสียชีวิตในการทำงานเพื่อชาติ จะทรงพระกรุณาฯ พระราชทานทรัพย์อุปการะครอบครัวและช่วยการศึกษาบุตรของเขาเหล่านั้น กับจะทรงเสด็จฯไปร่วมในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพแก่บรรดาผู้กล้าเหล่านั้นด้วยพระองค์ทุกครั้ง

 

     ด้านการปกครอง 

เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยจะทรงบริหารปกครองประเทศผ่านทางรัฐสภาจึงทรงถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการที่จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยพระองค์เองทุกครั้งตลอดมา



 

     ด้านการศาสนา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดูแลอุปภัมภ์ศาสนาทุกศาสนาที่มีอยู่ในเมืองไทย และในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ พระองค์ก็ทรงออกผนวช เช่นเดียวกันกับผู้ชายชาวพุทธส่วนใหญ่ โดยทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งในขณะที่ทรงผนวชก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามกฏระเบียบของสงฆ์อย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับพระภิกษุรูปอื่น ๆ 
        พระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบศาสนกิจอยู่เป็นนิตย์เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯ ไปบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปตามคำกราบบังคมทูลของคณะกรรมการวัดและของกรมศาสนา รวมทั้งยังทรงพระราช0ทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการปฏิสังขรณ์วัดที่ชำรุดทรุดโทรมต่าง ๆ อีกด้วย 
        สำหรับศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามนั้น เมื่อมีการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปในงานพิธีสำคัญ ๆ ของศาสนานั้น ๆ ก็จะเสด็จฯ ไปทรงร่วมในพิธีด้วยเสมอเช่นกัน
 

     ด้านประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จะทรงถือปฏิบัติตามแบบแผนโบราณราชประเพณีดั้งเดิมทุกประการในการพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิเช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีของไทยให้คงอยู่สืบเนื่องตลอดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าทรงเป็นอัครศิลปินแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ด้วยพระองค์ทรงเป็นเอตะทัคคะในศิลปะหลายสาขา ได้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งทางด้าน ดุริยางคศิลป์ ด้านทัศนศิลป์ และด้านวรรณศิลป์ ให้ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมากมาย 
        นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภกแก่ศิลปะทุกแขนง เช่นทรงรับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์หลายสมาคม กับทรงอุปถัมภ์ศิลปินโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของศิลปินอาวุโสที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมกับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในคราวเจ็บป่วยตามสมควร
 

     ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ 

หลังจากที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงปีพุทธศักราช 2502 ถึง 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบยุโรป อเมริกาเหนือและเอเซียเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทรงนำความปราถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าหลังจากปีพุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา พระองค์จะมิได้เสด็จต่างประเทศอีก (ยกเว้นเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2517 นี้ได้ทรงเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังจากที่เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานร่วมในการเปิดสะพานเชื่อมระหว่างประเทศมิตรภาพไทย - ลาวแล้ว) เพราะทรงมีพระราชภารกิจในประเทศมากมาย แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศแทนเพื่อทรงนำวิทยาการและสิ่งที่ได้ไปทรงพบเห็นกลับมาใช้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นอกเหนือจากนั้นยังทรงเสด็จฯ ออกให้การต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่เป็นประมุขของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จหรือเดินทางมาเยือนรวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าอยู่ตลอดเสมอมา
 

     กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
 ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน 
 จัดพิธีทางศาสนา ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล 
 จัดนิทรรศการ เผยแพร่พระราชประวัติ พระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจที่ทรงอุทิศเพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทย 
 จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 
 ร่วมกิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล ด้วยการจุดเทียน ร้องเพลงสดุดีมหาราชาพร้อมกันทั่วประเทศ
    ทศพิธราชธรรม
        ทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม 10 เป็นธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือคุณสมบัติของนักปกครองแผ่นดินโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน มีด้วยกัน 10 ประการคือ

 ทาน             การให้ 
 ศีล               ความประพฤติดีงาม 
 ปริจจาคะ     ความเสียสละ 
 อาชชวะ       ความซื่อตรง 
 มัททวะ        ความอ่อนโยน 
 ตปะ             ความทรงเดชเผากิเลสตัญหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ 
 อักโกธะ        ความไม่กริ้วโกรธ 
 อวิหิงสา       ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน 
 ขันติ             ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย 
 อวิโรธนะ    ความไม่คลาดธรรม

     สังคหวัตถุ 4 ประการ
           คือ คุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจผู้อื่นไว้ได้ ได้แก่

 ทาน               การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน 
 ปิยวาจา         พูดจาน่ารัก น่านิยมนับถือ 
 อัตถจริยา      บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น 
 สมานัตตตา   ความมีตนเสมอ คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมทุกข์ ร่วมสุข

แหล่งอ้างอิง: 
                    ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541. 
                    ศิริวรรณ คุ้มโห้. วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ



เข้าชม : 500


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา 25 / พ.ย. / 2563
      ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ข้าราชการ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง 19 / ต.ค. / 2559
      วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 5 / เม.ย. / 2559
      สวัสดีปีใหม่ 2559 30 / ธ.ค. / 2558
      ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ \\\\\\\"วันปิยมหาราช\\\\\\\" 24 / ต.ค. / 2558


 
กศน.ตำบลวังวน.
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกันตัง

ที่อยู่  บ้านห้วยลึก หมู่ท่ี่ 2 ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เบอร์โทร 096-3930112
e-mail : pomchaymai2424@gmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05