วันมหิดล
24 กันยายน ของทุกปี
ความหมาย
24 กันยายน วันมหิดล เป็น วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระราชชนกที่ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ของไทย
ความเป็นมา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ในเบื้องต้น ได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุข และวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากเสด็จกลับมาเมืองไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย
ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้างมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2493 และในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพร้อมต้องกันว่าให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์โดยให้ชื่อว่า วันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2494 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป
พระราชกรณียกิจมากมายที่พระองค์ได้ทรงประกอบไว้มีดังนี้
-
ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์
-
ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช
-
ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ และจัดสร้างตึกคนไข้ และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาลให้ได้อยู่อาศัย
-
ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนสำหรับส่งนักศึกษาแพทย์ และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ
-
ประทานเงินเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือ สำหรับปฏิบัติการให้แก่โรงพยาบาล
-
ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิรอคกีเฟลเลอร์ สาขาเอเซียบูรพา ในการปรับปรุง และวางมาตรฐานการศึกษา
-
ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง
วัตถุประสงค์โดยสรุป
-
เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฏแก่ มวลสมาชิกทั่วโลก
-
เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ร่วมกับ ประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่อมเชิดชูเกียรติ ในการนี้ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อให้ยูเนสโก ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศ ยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535
เข้าชม : 811
|