[x] ปิดหน้าต่างนี้
 



 

  

ข่าวเด่น
ทรงพระเจรฺิญ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

อังคาร ที่ 12 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2560


 

พระราชสมภพ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต[2] เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.[3] มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี[4]

ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตา ว่า[5]

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ   เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ   เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช   ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์   บรมขัตติยราชกุมาร

พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิรญาณะ" พระนามฉายาทั้งในพระองค์เองและในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6][7] มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา" หรืออาจแปลว่า "อสุนีบาต"[8]

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495[9] โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495[10]

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ[9][11][12]

การศึกษา

 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงพากย์-เจรจาโขน ในการเล่นโขนงานปิดภาคเรียน โรงเรียนจิตรลดา ปีการศึกษา พ.ศ. 2505

ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 จนถึง พ.ศ. 2505 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513 หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว ทรงการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519

เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

พระองค์เคยตรัสว่า เคยประสบปัญหาผลการเรียนที่ไม่น่าพึงใจ อันเป็นผลจากการที่ทรงถูกเลี้ยงดูมาอย่างประคบประหงม[8]

สยามมกุฎราชกุมาร

 
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร" นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย[13][14]

ผนวช

 
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ถวายตัวเป็นพุทธมามกะ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.37 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปทำทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เมื่อเวลา 16.59 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[15] เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[16] พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล[17] ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

การทหาร

 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติการฝึกเครื่องบินรบแบบ เอฟ-5

หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรอื่นๆ แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยได้เกิดปัญหาการก่อความสงบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งการก่อความไม่สงบได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ อส. บริเวณพื้นที่อันตราย นอกจากนี้ยังได้ทรงร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารหาญแนวหน้า

ปฏิบัติการ ณ บ้านหมากแข้ง

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร้อยเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมตำรวจ ทหารและราษฎรในพื้นที่ ณ ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ส่งกำลังเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต และได้บาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ปะทะยิงสู้รบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้เครื่องบินตก 1 ลำ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน ร้อยเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสู้รบ ทรงออกบัญชาการรบที่แนวหน้าด้วยพระองค์เอง การเสด็จฯ เยี่ยมดังกล่าวได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านและบรรดาทหารขณะนั้นเป็นอย่างมาก

ขณะที่ร้อยเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปยังแนวหน้า ได้มีการยิงถล่มจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ทำให้เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไม่สามารถลงจอดได้ เหตุการณ์ในวันดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า พระองค์ทรงกระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ความสูงประมาณ 12 เมตร แล้ววิ่งหลบฝ่ากระสุนที่ปลิวว่อนไปมาอย่างกล้าหาญ จากนั้นพระองค์จึงทรงวิเคราะห์และวางแผนการรบให้กับทหารในพื้นที่ ออกลาดตระเวน อยู่ยามเช่นเดียวกับทหารคนอื่น ๆ

พระองค์ได้ประทับแรมที่ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้งเป็นเวลา 1 คืนจึงเสด็จฯ กลับ และได้เสด็จฯ มาเยี่ยมเยือนอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยประกาศยอมแพ้ สงครามสู้รบจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2525

ด้านการบินรบ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระองค์เริ่มทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1เอช และเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1 เอ็น เมื่อสำเร็จตามหลักสูตรทรงขึ้นรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปีนั้นเองยังทรงสำเร็จหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบกรวม 2 เดือน

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ขณะติดตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1 เอช ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่นอร์ธแคโรไลนา และปี พ.ศ. 2525 เสด็จยังฐานทัพอากาศวิลเลียม รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ทรงฝึกศึกษาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบเอฟ 5 อี/เอฟ และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter 
Course) กับเครื่องเอฟ 5 ดี/เอฟ ที่กองบิน 1 ฝูง 102 จนสำเร็จตามหลักสูตร มีชั่วโมงบินทุกประเภทรวมกันกว่า 1,000 ชม.

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร มิได้ทรงละเลยการฝึกบินแบบใหม่ๆ โดยทรงเข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินใบพัดแบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และฝึกบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบที 37 กับแบบที 33 และจบหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ 5 อี/เอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 รวมชั่วโมงบิน 200 ชั่วโมง ด้วยความสนพระทัยอย่างมาก จนกระทั่งทรงพร้อมรบและครบ 1,000 ชั่วโมง เมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 อีกทั้งยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี โดยทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศจึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องที่สูงมาก ทรงเป็น "เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น" พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ
 

ทรงราชย์

King''s Standard of Thailand.svg พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
Buddha Yodfa Chulaloke portrait.jpg พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
Buddha Loetla Nabhalai portrait.jpg พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
Nangklao portrait.jpg พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
Rama4 portrait (cropped).jpg พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Chulalongkorn.jpg พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Vajiravudh.jpg พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
Prajadhipok portrait.jpg พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รามาธิบดี 8.JPG พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
รามาธิบดี 9.JPG พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
Rama10.JPG สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
    

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นที่คาดหมายว่าพระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[18] แต่ทรงขอผ่อนผัน[19]พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน[20]

จนกระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัดประชุมวาระพิเศษ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แจ้งหนังสือหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่ได้รับจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แก่ที่ประชุมเพื่อรับทราบ ก่อนอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์[21] และพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์[22] จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม จึงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร และวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาประมุขฝ่ายตุลาการ เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นสืบราชสมบัติ จากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า

ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง[23]

— สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559[24] เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งยังสอดคล้องกับคตินิยมในนานาประเทศที่ราชอาณาจักรย่อมไม่ว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์[25] และโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"[1] (วะ-ชิ-รา-ลง-กอน บอ-ดิน-ทฺระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน)



เข้าชม : 611


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      28 กรกฎาคม 2565 28 / ก.ค. / 2565
      \"วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี\" 1 / มิ.ย. / 2565
      2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 1 / เม.ย. / 2565
      วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ ตรงกับ 5 ธันวาคม ของทุกปี 2 / ธ.ค. / 2564
      28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 5 / ก.ค. / 2564


 
กศน.ตำบลท่าพญา
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปะเหลียน
ที่อยู่. หมู่ 4  ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เบอร์โทร. 086-2993085
e-mail:
Tipsu_28@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05