ความหมายและประวัติวันฉัตรมงคล
ความหมายของคำว่า "ฉัตรมงคล" มาจาก "ฉัตร" หมายถึง เครื่องกางสำหรับกันแดดหรือกันฝน เป็นสัญลักษณ์ของพระเกียรติยศ และ "มงคล" หมายถึง สิ่งที่ดีงาม รวมกันหมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก
วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล ; ภาษาอังกฤษ : Coronation Day) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก คือวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีต่อไปให้ถือว่าวันนี้เป็น "วันฉัตรมงคล"
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่สมัยโบราณดังที่ปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "ในสมัยสุโขทัยมีพิธีต้อนรับประมุขของแผ่นดินอย่างมโหฬารตั้งแต่ที่พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย”
สำหรับในสมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานตามพงศาวดารว่า พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินอยุธยา เมื่อมีการเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ ทั่วทั้งเมืองจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกใหญ่โตไปทั่วทั้งพระนคร ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธี พระบรมราชาภิเษก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและทรงต้องการให้ยึดถือเป็นระเบียบแบบแผนในรัชกาลต่อไป ซึ่งประกอบด้วย
- ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี
เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดียสถานสำคัญจากสถานที่ ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก (น้ำรด พระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า "ปัญจมหานที” แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีป ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ 18 แห่ง จากภายในประเทศไทยแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกร (ตราประจำรัชกาล)
- พิธีเบื้องต้น
เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์
- พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (เป็นพระราชอาสน์ 8 เหลี่ยม ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในสมัยโบราณเป็นราชบัณฑิต) และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์ เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท เมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธ เป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
- พิธีเบื้องปลาย
เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
- เสด็จเยี่ยมราษฎร
เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคล ในอดีตยังไม่มีพิธีนี้ จะมีแต่พนักงานฝ่ายหน้าฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงกระทำพิธีพระบรมราชาภิเษก ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดินครองประเทศย่อมนับถือว่าวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาลต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์ ส่วนในประเทศของเรายังไม่มี ควรจะจัดขึ้น แต่จะประกาศแก่คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันบรมราชาภิเษกหรืองานฉัตรมงคล ผู้คนในขณะนั้นยังไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจจึงต้องทรงอธิบายชี้แจงและทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อไปตามเก่าว่างานสมโภชเครื่องราชูปโภค แต่ทำในวันคล้ายวันราชาภิเษก นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
เข้าชม : 125
|