[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
         


 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
มารู้จักต้นคล้ากันเถอะ

จันทร์ ที่ 31 เดือน มีนาคม พ.ศ.2557

คะแนน vote : 1190  

ต้นคล้า

ต้นคล้า ชื่อสามัญ Catathea, Siver Catathea[4] คล้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.[2] บ้างระบุว่าชื่อวิทยาศาสตร์คือ Donax arundastrum[1], Lour-Clinogyma dichotoma[1] จัดอยู่ในวงศ์ Marantaceae[2] บ้างว่าอยู่ในวงศ์ Uarantaceae[1]

สมุนไพรคล้า ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า คลุ่ม (เกาะช้าง), คลุ้ม (ภาคตะวันออก), แหย่ง (ภาคเหนือ), ก้านพร้าคล้า (ภาคกลาง), คล้าย (ภาคใต้), บูแมจีจ้ะบะแม เบอร์แม ( มลายู-นราธิวาส), บูแมจี่จ๊ะไอย์ (มลายู-ปัตตานี), บูแมจีจ้ะ ไอ (มลายู), คล้าใบเงิน, คล้ากั้นแหย่ง เป็นต้น[1],[2],[4],[5]


ลักษะของต้นคล้า

  • ต้นคล้า หรือ ต้นแหย่ง จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือเป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้ออ่อน เจริญเติบโตขึ้นเป็นพุ่มหรือเป็นกอและมีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งแบบตั้งตรงและเป็นแบบเลื้อย มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน สามารถแตกหน่อได้ ลำต้นกลมเป็นสีเขียวเข้มออกเป็นข้อๆ และมีข้อปล้องยาว หากรวมทั้งก้านและใบจะมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 2-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในที่เป็นน้ำหรือเป็นโคลนตามริมคลองริมสระหรือตามลำธาร มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคตามริมห้วยหรือตามหุบเขาที่มีความชุ่มชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร และมักจะพบได้มากทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และในจังหวัดจันทบุรี[1],[2],[3],[5]
    • ใบคล้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาวหรือเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-35 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ มักมีลวดลายและสีสันบนใบที่สวยงาม โคนต้นมีกาบใบหุ้ม แผ่นใบทั้งสองด้านของเส้นกลางใบจะไม่เท่ากัน ในขณะที่ใบยังอ่อนด้านใหญ่จะม้วนหุ้มด้านเล็กไว้ และตรงรอยต่อของก้านใบกับแผ่นใบจะโป่งออก ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไว้ของใบ ซึ่งในเวลากลางคืนใบจะกางออก และห่อขึ้นในช่วงเวลากลางวันคล้ายกับการพนมมือ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร[1],[2],[3]
      • ดอกคล้า ดอกจะออกเป็นช่อบริเวณยอดอ่อนจากซอกกาบใบ ดอกจะออกเป็นคู่จากกาบรองดอกที่เรียงซ้อนกันเป็นแถวในระนาบเดียวกัน สลับซ้ายขวาจากแกนของช่อดอก หรืออาจจะเรียงสลับกันเป็นวง ดอกคล้าจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แต่จะดอกสมบูรณ์เพศเพียง 1 อัน ส่วนที่เหลือจะเป็นหมันและจะเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก 1 กลีบ และลักษณะของช่อดอกจะมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ แบบช่อแขนง แบบช่อกระจะ แบบช่อเชิงลด และแบบช่อกระจุกอยู่ที่ปลายก้าน[3] โดยดอกย่อยจะเป็นสีขาว ดอกมีกลีบดอก 3 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดๆ ปลายกลีบมน ส่วนกลีบรองดอกมี 3 กลีบ[2] ดอกมีขนาดใหญ่และเป็นสีขาวล้วน[1] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[5]
      • สรรพคุณของคล้า

        1. เหง้าหรือหัวมีรสเย็นและเบื่อ ใช้กินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการพิษไข้ ไข้เหลือง ไข้เหนือ ไข้ปอดบวม ไข้กาฬ ไข้จับสั่น กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้รากสาด ไข้หัด ช่วยดับพิษไข้ทั้งปวง (หัว)[1],[2],[5],[6]
        2. แก้เหือดหัด อีสุกอีใส ฝีดาษ ประดง (หัว)[1],[2],[5]
        3. ช่วยรักษาอาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (หัว)[1],[2],[5]
        4. ในประเทศอินเดียใช้หัวเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (หัว)[2],[5]

        ประโยชน์ของคล้า

        1. ต้นนำมาตากแห้ง ใช้ในการจักสาน เช่น การสานเสื่อ เป็นต้น[1]
        2. ใช้ปลูกเป็นไม้ดับในบริเวณบ้านทั่วไป ใช้ตกแต่งสวนน้ำ หรือใช้ปลูกตามสถานที่ต่างๆ[3],[4],[5]
        3. คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นคล้าไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยคุ้มครองรักษาและให้มีความสงบสุข เพราะคำว่า “คล้า” หรือ “คลุ้ม” หมายถึง การคุ้มครองปกป้องรักษา และยังหมายถึงความคลาดแคล้วจากพิษภัยของศัตรูทั้งปวงอีกด้วย นอกจากนี้ยังเรียกต้นคล้าว่า “พุทธรักษาน้ำ” โดยถือว่าเป็นไม้มงคลนาม ที่มีความหมายว่า พระพุทธเจ้ารักษานั่นเอง (แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นคล้าสายพันธุ์นี้หรือไม่ เพราะต้นคล้ามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด)[6]
        แหล่งอ้างอิง
        1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5.  ”คล้า“.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 169.
        2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  ”คล้า (Khla)“.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 75.
        3. สารานุกรมไม้ประดับในประเทศไทย เล่ม 1.  ”คล้า“.  (กองบรรณาธิการวารสารบ้านและสวน).
        4. สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม.  ”คล้าใบเงิน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sppk.ac.th/garden/.  [15 ก.พ. 2014].
        5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  ”คล้ากั้นแหย่ง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [15 ก.พ. 2014].
        6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  ”คล้า“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [15 ก.พ. 2014].

        ภาพประกอบ : เว็บไซต์ flickr.com (by Wee Foong), เว็บไซต์ magnoliathailand.com (by george), เว็บไซต์ icwow.blogspot.com

        บทความนี้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นโดยเว็บไซต์ กรีนเนอรัลด์ ดอทคอม (www.greenerald.com)

        ปรับปรุงครั้งล่าสุด วันที่ 15 ก.พ. 2014 เวลา 23:35 น.


เข้าชม : 2259


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      มารู้จักต้นคล้ากันเถอะ 31 / มี.ค. / 2557
      ข่าวไอที 25 / เม.ย. / 2554
      มันสามารถเขียนทับไฟล์ที่ลึกกว่า root ได้อีกด้วย 20 / เม.ย. / 2551
      แก้ปัญหา Windows XP บูตช้า 12 / ก.พ. / 2551
      ตามล่าหาไฟล์ .dll ที่หายไป 3 / ก.พ. / 2551


 
กศน.ตำบลโพรงจระเข้
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอย่านตาขาว
ที่อยู่ บ้านโหละคล้า หมู่ที่ 7 ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เบอร์โทร   081-0804659
e-mail ..Rattana_jitbon@hotmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05