วันฉัตรมงคล คือ วันที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าพระราชพิธีบรมราภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยอย่างสมบูรณ์แบบ โดยพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปจนกระทั่งพระองค์บรรลุนิติภาวะแล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย จากนั้นรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันฉัตรมงคลรำลึก
วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการในคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 กล่าวไว้ว่า หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษก 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ในปีถัดไปจะเป็นวันระลึกวันบรมราชาภิเษก
และจะเรียกว่าวันฉัตรมงคลตลอดไปในรัชกาลนี้ และด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป วันฉัตรมงคลจะกลายเป็นวันที่ 4 พฤษภาคมนั่นเองครับ
ประวัติพระราชพิธีฉัตรมงคล
พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น นับว่าเป็นมหามงคลสมัยที่ประเทศทั้งปวงมีพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมให้นับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้ วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรจะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำจัดการพระราชกุศล พระราชทานนามว่า ฉัตรมงคล ขึ้น การจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงแรกเริ่มนั้น มีพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ครั้นมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน โดยเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตรินาธิราช ตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษก อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ใหม่ โดยพระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน ดังนี้
- วันแรก ตรงกับที่ 3 พฤษภาคม
เป็นงานเสด็จพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุพการี ถัดมาเป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ จากนั้นพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี - วันที่สอง ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม
เป็นวันเริ่มต้นพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล ต่อด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น - วันที่สาม ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม
เป็นวันฉัตรมงคล มีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในช่วงเที่ยง ทหารบกและทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด ในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานอีกด้วย
แต่เดิมเมื่อครั้งอดีต พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและทวารประตูวัง ได้จัดให้มีการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาในเดือนหกของทุกปี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชภิเษกเป็นวันมงคลสมัยจึงควรเฉลิมฉลอง พระองค์จึงได้ทรงริเริ่ม วันฉัตรมงคล ขึ้น แต่เนื่องด้วยพระราชพิธีนี้เป็นพิธีใหญ่ อธิบายให้คนอื่นฟังก็มักจะเกิดความไม่เข้าใจ ครั้งนั้น วันบรมราชาภิเษกตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีมาแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคล เป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค ทำให้ไม่มีผู้ใดติดใจสงสัยอะไรในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นก็มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่า การเแลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ 4 เป็นครั้งแรก
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวันพระบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม พระองค์จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีการพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายกันบรมราชาภิเษก ฝ่ายผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่อย่างเดิม การจัดงานวันฉัตรมงคลจึงมีลักษณะเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมที่ปฏิบัติในวันฉัตรมงคล
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
- ร่วทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
- น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยโดยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยยิ่งยืนนาน