[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                                      


 


ความเป็นมากลุ่มเป้าหมายพิเศษ

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร จำนวน 65.6 ล้านคน และในจำนวนประชากรดังกล่าวมีคนพิการเป็นจำนวนมาก จากสถิติการจดทะเบียนคนพิการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552     มีจำนวนผู้พิการทั้งสิ้น 855,973 คน และเข้าสู่ระบบโรงเรียนเพียง 276,129 คน ที่เหลือเป็นผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งจะมีลักษณะความพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ของลักษณะความพิการ ซึ่งมีปัญหาในการทำกิจกรรมในการดูแลตนเอง ทำกิจวัตรส่วนตัว หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ดังนั้นเพื่อให้คนพิการได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับคนพิการเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสด้านต่าง ๆ เท่าเทียมคนปกติ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2550 มาตรา 54 ระบุว่า บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทาง การศึกษา มาตรา 10 ได้ระบุเกี่ยวกับคนพิการไว้ว่า การจัดการศึกษาสำหรับบุคคล ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) มาตรา 10 วรรคสาม การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสองให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ..2551 หมวด 1 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 5 (1) ระบุว่า คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา (2) เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น (3) ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล

กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิของคนพิการในการรับบริการทางการศึกษา เพื่อให้คนพิการทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้โดยให้คนพิการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลรวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จึงได้กำหนดนโยบายปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการในทศวรรษที่สอง (..2552-2561) ให้คนพิการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละประเภทความพิการในทุกระบบและรูปแบบการศึกษา  โดยให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้ให้ความสำคัญในการจัดการเรียนรู้แก่คนพิการที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ได้รับโอกาสทางการศึกษานอกระบบ   โดยจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพความพิการของแต่ละบุคคล จึงได้มอบให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการ ทั้ง 9 ประเภท คือ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์ บุคคลออทิสติก และบุคคลพิการซ้อน โดยมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชน ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนพิการให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักงาน กศน.ได้จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งการศึกษานอกระบบ เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อเนื่อง โดยการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับการศึกษาต่อเนื่องนั้นได้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและพัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กับนักศึกษาพิการขึ้น



เข้าชม : 298
 
 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาโยง  จังหวัดตรัง
เลขที่ 60 หมู่ 5 ตำบลนาโยงเหนือ  อำเภอนาโยง  จังหวัดตรัง 92170 โทรศัพท์
075-299253 โทรสาร 075-299253

สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05